นับเป็นเรื่องร้อนทางการเมืองที่เรียกได้ว่า “ช็อค” กันไปทั่วฟ้าเมืองไทยทีเดียว
เพราะกระแสข่าวที่กลบทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุด มันทำให้แสงสปอร์ตไลท์ต่างจับจ้องมายังสองพรรคการเมืองใหญ่ของเมืองไทยอย่าง “ภูมิใจไทย” และ “ประชาธิปัตย์” ที่ประกาศจะ “จับมือกันเดิน” บนถนนการเมืองสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
และสิ่งที่ตามมาคือความตะลึง เพราะข้อเรียกร้องของทั้งสองพรรค คือ กระทรวงเกรดเอทั้ง 6 แห่งในการบริหารประเทศ เริ่มจาก
ประชาธิปัตย์
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงพลังงาน
ภูมิใจไทย
- กระทรวงคมนาคม
- กระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้ง 6 กระทรวงถือเป็น “เก้าอี้เกรดเอ” สำหรับนักการเมืองที่หมายมั่นอยากจะเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าการเมืองไทยจะเกิด “ขั้วที่ 3” ขึ้นมาทันทีหากทั้งสองพรรคข้างบนไม่ได้รับการตอบสนองจากบิ๊กเนมพรรคการเมืองสองขั้ว ทั้งฟากฝั่ง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” ซึ่งก็พร้อมจะจับมือกับพรรคเล็กอย่าง ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา เพื่อผนึกเป็นทางเลือกบนการเมืองสำหรับการเดินหน้าทำงานเพื่อประเทศ
เมื่อมองไปยังจำนวนเก้าอี้ส.ส.ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่นับรวมกัน 103 ที่นั่ง และหากจะเกิดขั้วที่ 3 ขึ้นมาจริงก็จะทำให้พวกเขาได้เก้าอี้ส.ส.หากได้ควบรวมกับ ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนารวมแล้วเป็น 116 ที่นั่ง ซึ่งมันก็มากพอดูกับการเลือกเป็นข้อต่อรองทางการเมือง
การประกาศจากสองพรรคใหญ่มันมีเอฟเฟ็กต์ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับ “พลังประชารัฐ” ที่หมายมั่นจะดึงทั้งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยเข้ามาร่วมก๊วนเพื่อให้เสียงข้างมากในการโหวตชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งก็คือเป้าหมายหลักของการก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา แต่เมื่อเกิดการต่อรองด้วยการขอ “6 กระทรวงเกรดเอ” ก็ทำให้ต้องถอยหลังมาพิจารณาใหม่ทันที
เพราะทั้ง 6 กระทรวงถือเป็นสิ่งที่พลังประชารัฐเองก็ต้องการจะวางคนของตัวเองให้เข้าไปทำงานเหมือนๆ กัน
แต่ทำไมต้อง 6 กระทรวงเกรดเอล่ะ?
อย่างไรก็ตาม หากมองถึงข้อเรียกร้องจะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองพรรคที่เลือกกระทรวงทั้ง 6 แห่งนั้น ต่างก็ต้องการให้ได้มาเพื่อทำตามนโยบายที่เคยประกาศกับประชาชน โดยเฉพาะกับภูมิใจไทยที่เน้นหนักอย่างมากกับ “กัญชาเพื่อการแพทย์” เพราะย้ำอยู่เสมอว่า “เอาจริง” กับนโยบายนี้มาโดยตลอด และการขอคุม “กระทรวงสาธาณสุข” ก็แน่นอนว่าเพื่่อเป็นการต่อยอดนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ให้เกิดขึ้นจริง
ขณะที่กระทรวงคมนาคม ก็ถือเป็น “สถานที่หลัก” ของภูมิใจไทยอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่รัฐบาลที่มีชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ กุมบังเหียนโดยได้แรงสนับสนุนจากภูมิใจไทยเมื่อเกือบสิบปีก่อน พวกเขาก็ได้กระทรวงนี้เข้ามาบริหาร อีกทั้ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าภูมิใจไทย ก็ยังเคยเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างที่เป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการได้มาซึ่ง “กระทรวงคมนาคม” จึงถูกหมายมั่นว่าจะเป็นพื้นที่สร้างผลงานในการพัฒนาประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ขณะเดียวกัน “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” ก็ถือเป็นอีกแห่งหนการทำงานที่เชิดหน้าชูตาได้อย่างดี เพราะประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และการที่ “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีแห่งบุรีรัมย์ ซึ่งทั้งบางก็รู้กันดีว่าใกล้ชิดกันแค่ไหนกับ “เสี่ยหนู อนุทิน” และภูมิใจไทย ซึ่งกำลังบูมอย่างหนักกับการท่องเที่ยวและกีฬาของบุรีรัมย์ ซึ่งแน่นอนว่าหากภูมิใจไทยเข้าวินได้กระทรวงนี้มาครอง พวกเขาเองก็มีวิสัยทัศน์อยู่แล้วในการจะพาประเทศไทยไปในทิศทางไหนกับการท่องเที่ยวและกีฬา
เมื่อหันไปมองข้อต่อรองของ “ประชาธิปัตย์” ที่เรียกเอา “กระทรวงมหาดไทย” ก็ถือเป็นแหล่งชั้นยอดในการดูแลฝ่ายปกครองทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนว่ามันจะพันเกี่ยวกับการเทงบประมาณลงไปแต่ละพื้นที่ผ่านหน่วยงานราชการในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ และยังเป็นการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละท้องถิ่นที่ก็ว่ากันตามจริงว่าอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งในสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์มีการเปลี่ยนใบเปลี่ยนหัวเรือ เพราะเสียรังวัดไปพอสมควรกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา การได้กระทรวงมหาดไทยมาเป็นกลไกสำหรับการทำงาน ก็น่าจะช่วยกู้หน้าในการเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กลับคืนสู่พรรค
หรือแม้แต่กระทรวงพาณิชย์ กับ กระทรวงพลังงานเองก็เช่นกัน ประชาธิปัตย์ต้องการเรียกคะแนนจากพี่น้องเกษตรกรไทยโดยเฉพาะกับการผลักดันราคาพืชผลทางการเกษตร และอะไรจะดีไปกว่าการทำงานให้ลุล่วงผ่านกลไกของกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่กระทรวงพลังงานก็เหมือนกัน เพราะเป็นเกรดเออยู่แล้วทั้งในด้านงบประมาณ และการคุมขุมทรัพย์ของชาติเอาไว้
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญของข้อต่อรองจากสองพรรคใหญ่ในการ “ขอเอา” 6 กระทรวงเกรดเอมาอยู่ในมือ แม้ในทางหนึ่งจะเป็นการทำงานเพื่อชาติ ประชาชน เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทั้งสองพรรคต่างก็มีทีม และบุคลากรที่พร้อม เหมาะสม จะมานั่งเก้าอี้คุมงานทั้ง 6 กระทรวงที่ว่านี้อยู่แล้ว แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อต่อยอดและทำให้นโยบายความต้องการทำงานของตัวเองบรรลุผลเป็นผลงานด้วยเช่นกัน
แต่คำถามที่ตามมา พรรคใหญ่ที่ได้ส.ส.เสียงข้างมาก จะเอาด้วยหรือเปล่า?
คำตอบนี้คงอยู่ในใจสองพรรคใหญ่อย่าง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” อยู่แล้วแน่ๆ ในส่วนของเพื่อไทยเชื่อว่าหากเอาข้อเสนอนี้ไปต่อรอง แล้วประชาธิปัตย์ “เอานะ” กับภูมิใจไทยจริงๆ ดั่งคำมั่นว่าจะจับมือกันเดินไม่คลายความแน่นออกจากกัน ก็เชื่อว่าจะได้ไฟเขียวเอาด้วยแน่นอน เพราะเป้าหมายเดียวของเพื่อไทยก็คือล้างบางขั้วอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และ คสช.ลงไปให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรไปก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้ก็ถึงกับขนาดที่ว่ายอมยกเก้าอี้นายกฯ ให้กับคนนอกพรรคมาแล้ว นับประสาอะไรกับ 6 กระทรวงเกรดเอจะให้กันไม่ได้
แต่สำหรับ “พลังประชารัฐ” นี่แล้วถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าจะปวดหัวไม่น้อยทีเดียว เพราะทั้ง 6 กระทรวงถือเป็นความฝันที่ทั้งอยากได้ และอยากจะทำงานต่อไปด้วย อีกทั้งกับทุ่มทุกอย่างที่มีทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงเงินไปกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จนเปิดหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคใหม่แต่โกยคะแนนเสียงจากประชาชนไปมากโข จนกลายเป็นพรรคใหญ่ที่ผงาดมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล การลงทุนไปขนาดนั้น “พลังประชารัฐ” จะยอมเสียเหงื่อให้เหนื่อยเปล่า เพียงเพื่อแลกกับจำนวนส.ส.และยกทั้ง 6 กระทรวงเกรดเอให้กับสองพรรคไป เพื่อให้เก้าอี้นายกฯ ของชายที่ชื่อว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ได้มั่นคงแข็งแรงพร้อมนั่งต่อไปอีกอย่างน้อยก็ 4 ปีข้างหน้า
และหากพลังประชารัฐ จะเอาด้วยกับข้อเสนอ ผลที่ตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็ต้องยอมรับกระแสคลื่นใต้น้ำ และเสียงบ่นเสียงค่อนขอดจากคนในพรรค ที่มันต้องเกิดขึ้นแน่กับการยอมแลกครั้งนี้
ระเบิดลูกแรกที่ออกมาจาก “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” มันก็เป็นความชัดเจนบนถนนการเมืองของประเทศไทยที่เริ่มเห็นเค้าลางการจัดตั้งรัฐบาลบ้างแล้ว แต่อีกผลหนึ่งคือมันต้องทำให้พลังประชารัฐ กุมขมับแน่ๆ
กองบรรณาธิการ ThaiQuote
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ครม.ไฟเขียว ข้าราชการ เกษียณอายุ 70 ปี