ต่อยอดการละเล่นไทย แก้ปัญหาเด็กติดมือถือ-แท็บเลต

ต่อยอดการละเล่นไทย แก้ปัญหาเด็กติดมือถือ-แท็บเลต


สสส.-สถาบันวิจัยประชากรฯ มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น จับมือต่อยอดการละเล่นไทย พลิกวิกฤติ “ติดจอ” แก้ปัญหาเด็กไทยกิจกรรมทางกายต่ำ

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.62 ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Association : JSPO) แถลงข่าวความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนางานวิจัย เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่นในบริบทไทย เพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน (THAI-ACP)

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า สสส.ได้กำหนดให้ประเด็นด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากร และมองว่านี่คือ “การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่าที่สุด” ในระยะยาว

นอกจากนี้จากสถานการณ์เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่คร่าชีวิตของประชากรไทยปีละกว่า 7 แสนราย ได้ลุกลามและคืบคลานมาสู่กลุ่มประชากรวัยเด็กและเยาวชนมากขึ้น ข้อยืนยันที่สำคัญคือ ร้อยละของเด็กที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และเป็นโรคอ้วน รวมถึงอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในเด็กที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายชิฮารุ อิบาชิ ผู้จัดการทั่วไปสำนักส่งเสริมการกีฬา สมาคมกีฬาประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลจากการใช้แนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ACP กับเด็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องสมรรถนะทางกาย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง พัฒนาการตามช่วงวัย

ตลอดจนความสุขและรอยยิ้มที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทางสมาคมกีฬาประเทศญี่ปุ่นจึงปรารถนาที่จะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิดที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับประเทศต่างๆ ที่สนใจ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับเด็กๆ ในประเทศของตนอย่างเหมาะสมตามบริบททางสังคม ซึ่งสมาคมกีฬาประเทศญี่ปุ่นรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือในการทำงานดังกล่าวกับประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน

รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม ซึ่งรวมถึงประเด็นทางด้านสุขภาพของประชากร กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่ทางสถาบันฯ กับทาง สสส. ร่วมมือกันดำเนินการก่อนหน้านี้ให้มีความหลากหลายในเชิงกระบวนการเพื่อนำไปสู่การเผยแพร่และขยายผลในระดับประเทศได้ในอนาคต

ที่มา : Hfocus

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เตือนนักเสพ อย่าคิดใช้ “ไดคลาซีแพม”