ถอดรหัสกกต.”แสตมป์ปาร์ตี้ลิสต์” ส่ง “บิ๊กตู่” นำประเทศ

ถอดรหัสกกต.”แสตมป์ปาร์ตี้ลิสต์” ส่ง “บิ๊กตู่” นำประเทศ


กองบรรณาธิการ ThaiQuote

พลันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศเป็นอีกบทหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย เมื่อในที่สุดคนไทยทั้งประเทศ ก็ได้เห็นผลการรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งรับรองออกมาทั้งหมด 149 คน ขาดไปเพียง 1 คน เนื่องจากยังต้องรอคะแนนส.ส.แบบแบ่งเขตที่ยังประกาศไม่ครบ

แต่กระนั้นก็พอเห็นทิศทางของการเมืองในอนาคตข้างหน้ากันบ้างแล้ว เพราะตัวเลขส.ส.ทั้งหมดที่มีอยู่ 500 เก้าอี้ของ 500 ตัวแทนประชาชน แม้จะมีการประกาศออกมารวมกันที่ 498 เก้าอี้ขาดไป 2 เก้าอี้ กระนั้นก็เริ่มชัดเจนเกือบๆ จะเป็นทางการว่าพรรคไหนมีสัดส่วนเท่าไหร่กันบ้าง และแน่นอนว่า “หน้าตา” ของนายกรัฐมนตรีก็คงหนีไม่พ้นคนที่คุ้นชินมาตลอดหลายปี นั่นคือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่วกวนและสับสนปนสังสัยในสังคมมาตลอดนับตั้งแต่วันปิดหีบเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา อีกหนึ่งประเด็นคือสูตรการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และท้ายสุด กกต.ก็เลือก สูตรที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. วางไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2561 ซึ่งตามสูตรนี้จะมีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ทั้งหมด 27 พรรค ในจำนวนนี้เป็นพรรคที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน หรือหรือต่ำว่าประมาณ 71,000 คะแนน จำนวน 11 พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ทำให้มีพรรคที่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 1 คน มากถึง 13 พรรค

และแน่นอนว่าการ “แสตมป์” ล่าสุดของกกต.ในการรับรองส.ส.ทั้ง 498 ชีวิตที่ให้ใส่สูทผูกไทด์เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาก่อน และหากมีความผิดภายหลังก็จะถูกสอยตามมา เพียงเท่านี้ก็ทำให้หน้าตาตัวเลขส.ส.ของแต่ละพรรคชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกับพรรคขนาดใหญ่ที่แข่งขันกันช่วงชิงเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อผู้ที่จะมาบริหารประเทศต่อไป

แม้อันดับหนึ่งของจำนวนส.ส.จะเป็นของ “เพื่อไทย” ที่ชู “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกฯ ด้วยตัวเลข 138 เก้าอี้ แต่ก็ไร้ซึ่งเก้าอี้แบบปาร์ตี้ลิสต์ ขณะที่คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง “พลังประชารัฐ” กอดเก้าอี้เอาไว้ได้ทั้งหมด 115 ตัว มาจากส.ส.แบ่งเขต 97 ที่นั่ง และปาร์ตี้ลิสต์อีก 18 ที่นั่ง

แม้ดูจะเป็นรอง แต่ต้องไม่ลืมว่า “พลังประชารัฐ” มีพรรคที่พร้อมจะร่วมทางบนถนนการเมืองอยู่ไม่น้อย หลังจากที่ชัดเจนว่ามีการต่อรองพูดคุยกันมาบ้างแล้วเพื่อให้ทุกอย่างลงตัว ซึ่งหากรวมกับพรรคขนาดกลางอย่าง “ภูมิใจไทย” และพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ที่ได้เก้าอี้ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ด้วยเหมือนกัน ก็มีสิทธิ์เอาง่ายๆ ที่พลังประชารัฐ จะรวบรวมเสียงและทยานเกิน 253 หรือเกินกึ่งหนึ่งในการเสนอโหวตหานายกรัฐมนตรี ขณะที่ “เพื่อไทย” เมื่อรวบแล้วกับทีมเครือข่ายของพรรคการเมืองในขั้ว บวกลบก็ได้เพียงแค่ 245 เสียงเท่านั้น

ยิ่งรวมกับเสียงของสภาสูงอย่าง ส.ว. ที่มีอยู่ในมือ ผลตรงนี้ก็ทำให้ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นต์สูงทีเดียวที่จะได้นายกหน้าเก่าที่ได้เก้าอี้เพราะการยึดอำนาจมา แต่ล่าสุดจะมาผงาดผ่านครรลองที่มาจากการเลือกตั้ง คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
วันพืชมงคล 62 เข้าสู่ฤดูฝน ฤดูกาลแห่งการเพาะปลูก