หอการค้าเผย เปิดเทอมเงินสะพัด 5.4 หมื่นล.

หอการค้าเผย เปิดเทอมเงินสะพัด 5.4 หมื่นล.


หอการค้า เผย ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมพุ่ง 5.4 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มียอด 5.2 หมื่นล้าน โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าเล่าเรียน หน่วยกิต ถึง 45.4%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม จากการสำรวจ 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคม 2562 พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมีเงินสะพัดทั่วประเทศประมาณ 54,972.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีเงินสะพัดช่วงเปิดเทอม 52,254.88 ล้านบาท โดยจำนวนบุตรที่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและอุปกรณ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ระบุว่า ส่งลูกเรียนเพียงคนเดียว มีเพียงร้อยละ 9.2 ที่ต้องส่งบุตรเรียน 2 คน

ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการเปิดเทอมครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ร้อยละ 38.1 เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม รองลงมาคือร้อยละ 23.9 เห็นว่า มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นซึ่งโครงสร้างค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมส่วนใหญ่ร้อยละ 45.4 มาจากค่าเล่าเรียนค่าหน่วยกิต และร้อยละ 28.6 มาจากค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่หรือค่าแป๊ะเจี๊ยะ

สำหรับทัศนะต่อราคาสินค้าเมื่อเปรียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่บอกว่าราคาหนังสือ กระเป๋านักเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า ถุงเท้าไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนแหล่งที่มาของเงินในการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ส่วนที่เพียงพอ ร้อยละ 43.8 มาจากเงินเดือนของผู้ปกครอง และร้อยละ 34.4 มาจากเงินออม ส่วนผู้ปกครองที่มีเงินไม่เพียงพอ ร้อยละ 28 ระบุว่า ต้องกู้เงินในระบบ ร้อยละ 24.6 บอกว่า ต้องจำนำทรัพย์สิน ร้อยละ 17.9 ต้องยืมญาติพี่น้อง และ ร้อยละ 17.8 ต้องกู้เงินนอกระบบ

ทั้งนี้ ด้านความเห็นต่อปัญหาการศึกษา ร้อยละ 73.6 พบว่า ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขันต่อ ร้อยละ 73.3 พบว่า ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานได้เรียนในสถาบันที่ดี ร้อยละ 72.1 เห็นว่า จรรยาบรรณในวิชาชีพของครูน้อยลง ร้อยละ 71.6 ระบุว่า ข้อสอบวัดมาตรฐานไม่อิงกับหลักสูตรการเรียนการสอน ร้อยละ 71.4 เห็นว่า หลักสูตรในระดับปฐมวัยเร่งรัดด้านการเรียนมากไป และร้อยละ 70.6 บอกว่า จำนวนครูไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ส่วนเรื่องการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบุตรหลาน เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต เกมส์ออนไลน์ เครื่องเล่นเกมส์ที่บ้าน เกมส์ตู้ และเกมส์พกพาขนาดเล็ก ผู้ปกครองมากกว่าร้อยละ 83.2 ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เล่นแล้วไม่ทำให้เสียการเรียน โดยเฉพาะการเล่นสมาร์ทโฟน มีผู้ปกครองสูงถึงร้อยละ 97.3 ระบุว่า เล่นแล้วไม่เสียการเรียน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ราชทัณฑ์ จัดพิธีปล่อยตัวผู้ต้องขังได้รับอภัยโทษ 10 พ.ค.นี้