กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยกทัพผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย 12 ราย ขนผลงานภาพยนตร์และแอนิเมชันเข้าร่วมเปิดตัวและเจรจาการค้าในงาน Cannes Film Festival 2019 ที่เมืองคานส์ เชื่อมั่นขายได้แน่ พร้อมนำผลงานด้านโปรดักชันเซอร์วิสโชว์ หวังดึงดูดให้ผู้ทำหนังเข้ามาใช้บริการ หลังรัฐบาลมีนโยบายคืนภาษีให้ผู้ที่เข้ามาถ่ายทำในไทย
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ จะนำคณะผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย จำนวน 12 บริษัท ทั้งภาพยนตร์และแอนิเมชัน เข้าร่วมงานเปิดตัวและเจรจาการค้าภายในงานแสดงสินค้า Cannes Film Festival 2019 ภายใต้แนวคิด Creative Thai ที่สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชันให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 14-23 พ.ค.2562 ณ เมืองคานส์ ฝรั่งเศส
สำหรับ 12 บริษัท แบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มแรกเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ 9 บริษัท ได้แก่
บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง Friend Zone ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดเอเชีย ไปเจาะตลาดยุโรปเพิ่มเติม
บริษัท พี.แอล.เอช. โฮลดิ้ง จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง Friendsssss The Next Chapter
บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่น จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง The Spirit of RAMAYANA
บริษัท ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น จำกัด นำผลงานภาพยนตร์เรื่องพี่นาค ไปจำหน่าย หลังประสบความสำเร็จทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทในประเทศไทย
บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด นำภาพยนตร์เรื่อง The Pool
บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับผลงาน Sisters กระสือสยาม ที่จับมือกับกลุ่มศิลปินชื่อดังแห่งยุค BNK48
บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด กับภาพยนตร์ไทยสายฮาฟอร์มดีทะลุร้อยล้านบาท ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก
บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด กับภาพยนตร์เรื่อง แสงกระสือ ซึ่งขายไปแล้วกว่า 11 ประเทศในเอเชีย พร้อมเตรียมบุกตลาดยุโรปเป็นครั้งแรกเช่นกัน
บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด นำซีรีส์ใหม่ Hotel Stars ไปเปิดตัวครั้งแรกในตลาดเทศกาลภาพยนตร์นี้
กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ให้บริการด้านภาพยนตร์จำนวน 3 บริษัท ได้แก่
บริษัท เดอ วอร์เรนท์ พิคเจอร์ จำกัด ตัวอย่างผลงาน ได้แก่ Mechanic Resurrection จากสหรัฐฯ Ninja : Shadow of a Tear จากสหรัฐฯ
บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด ตัวอย่างผลงาน Thugs of Hindostan จากอินเดีย
บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสตูดิโอมาตรฐานระดับฮอลลีวูดอันดับหนึ่งในเอเชีย
“มั่นใจว่าภาพยนตร์ของไทย จะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อในตลาดยุโรป และผลักดันให้ผลงานของคนไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ส่วนงานด้านโปรดักชันเซอร์วิส ก็เป็นอีกธุรกิจบริการหนึ่งที่ไทยมีขีดความสามารถในการให้บริการ เพราะมีผลงานระดับโลก และสามารถที่จะดึงดูดให้ผู้ทำภาพยนตร์และสื่อโทรทัศน์เข้ามาใช้บริการในไทยได้ และยิ่งรัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ที่เข้ามาถ่ายทำในไทย ได้รับคืนภาษีสูงถึง 15-20% ก็ยิ่งช่วยดึงดูดให้เข้ามาถ่ายทำในไทย”น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
“พาณิชย์” ดันสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยขึ้น “Ryubo” ห้างดังญี่ปุ่น! หวังเป็นประตูสู่เวทีโลก