หลังจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ทันที่หลังผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในคืนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งไม่ถึง 100 ที่นั่งตาม ที่อภิสิทธิ์ ประกาศก่อนการเลือกตั้ง โดยกระบวนการ ทางพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจะแถลงผลการรับรอง ส.ส. 95 % ในวันที่ 9 พ.ค. 62 ไปแล้ว เพื่อให้กรรมการบริหารพรรค กำหนดแนวทางในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกำหนดท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร
สำหรับ การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ จากเดิมคาดการณ์กันว่าจะมีแคนดิเดต จำนวน 4 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค กรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้า อภิรักษ์ โกษะโยธิน และนิพนธ์ พร้อมพันธุ์
ภายหลัง มีรายงานว่า ขณะนี้เหลือผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแค่ 2 คนเท่านั้น คือ “จุรินทร์” และ “กรณ์” โดยรายอื่นๆ ได้ขอถอนตัวไป
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่กระแสนิยมของพรรคตกต่ำลงมาก มีอดีตส.ส.เก่าหลุดจากเก้าอี้ไปหลายคน ประกอบกับ ในกลุ่มคนสมาชิกรุ่นใหม่กับกลุ่มสมาชิกรุ่นเก่า มีความขัดแย้งในเรื่องท่าที ทางการเมืองกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมรัฐบาล หรือจะออกมายืนเป็นฝ่ายค้าน ทำให้ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกหัวหน้าพรรคในครั้งนี้มาก และจากการประเมิน 2 แคนดิเดต ไม่ว่าจะจุรินทร์ หรือกรณ์ แม้ว่าได้รับแรงสนับสนุนจากซีกสมาชิกใกล้เคียงกัน แต่หากคนใดคนหนึ่งขึ้นมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการยอมรับจากอีกซีกหนึ่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับพรรคในระยะยาวที่ต้องการสร้างศรัทธาคืนจากประชาชน
ประกอบกับจากการประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ทาง ปชป. คาดว่า รัฐบาลใหม่ที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำรัฐบาลไม่น่าจะมีเสถียรภาพมากนัก อายุรัฐบาลคงนานไม่เกิน 1 ปีก็อาจจะต้องมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องหาหัวหน้าพรรคที่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในพรรค มีบารมีที่คนในพรรคยอมรับ ไม่ทำให้เกิดกระแสขัดแย้งในพรรคต่อไป และสามารถนำพรรคเรียกศรัทธาจากประชาชนคืนมาโดยเร็วที่สุดสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า
ดังนั้น จึงมีแนวคิดที่จะเสนอ “ชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรค และอดีตหัวหน้าพรรค ให้กลับมารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคอีกครั้ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีการผลักดันให้ “ชวน หลีกภัย” กลับมารับหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการจัดตั้งรัฐบาล มีการประเมินว่า มีโอกาสสูงที่ พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับ พปชร. และ จะไม่ร่วมหนุนให้ทางซีกเพื่อไทยชิงจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน
เพราะ “นายหัวชวน” ค่อนข้างจะมีสไตล์การทำงาน และยังเป็นคนที่ยึดมั่นการต่อสู้ภายใต้พรรคประชาธิปัตย์อย่างเข้มข้น และเขายังเป็นนักต่อสู้กับการทุจริตทางการเมืองมาโดยตลอด ดังนั้น การเลือกเป็น “ฝ่ายค้าน” จึงน่าจะเป็นทางที่ “ชวน” เลือกจะเดิน และนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปในเส้นทางนี้ หากเขากลับเข้ามากุมบังเหียนประชาธิปัตย์ให้ท่องทะเลการเมืองอีกคำรบ
อีกทั้ง การเลือกข้างว่าจะเข้าไปฝั่ง “พลังประชารัฐ” ก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา “ชวน” กับ “อภิสิทธิ์” ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และการประกาศจาก “มาร์ค” ที่ลั่นวาจาไว้แล้วว่า จะไม่ร่วมกับพลังประชารัฐ เพื่อหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเด็ดขาด แน่นอนว่าครั้นนายหัวชวนเมื่อกลับเข้ามา คงไม่เลือกทาง “หัก” กับอดีตลูกหม้อที่ปลุกปั้นมากับมืออย่าง “อภิสิทธิ์” แน่ๆ
ส่วนเพื่อไทยก็ไม่ต้องพูดถึงว่าจะร่วมงานกันในฐานะ “ฝ่ายรัฐบาล” ได้ เพราะประวัติศาสตร์ของทั้งสองพรรค ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอดบนถนนการเมือง ลองนึกภาพ “ชวน” พาประชาธิปัตย์ไปสวมกอดกับ “เพื่อไทย” หากเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าคนประชาธิปัตย์ทั้งบาง จะไม่เผาผี “ชวน หลีกภัย” แน่นอน
ท้ายสุด ไม่ว่า “ประชาธิปัตย์” จะเลือกเดินทางไหน และลงเสียงว่าใครเหมาะสมจะมาบังคับทิศทางประชาธิปัตย์ในอนาคตการเมืองข้างหน้า แต่หากเลือก “ชวน หลีกภัย” สิ่งที่การันตีได้คือ “ประชาธิปัตย์” จะโดดเดี่ยวบนเส้นทางการเมืองอย่างแน่นอน แต่กับสิ่งที่เรียกว่า “ศักดิ์ศรี” สิ่งนี้จะอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไป และไม่มีใครมา “ลดราคา” คำว่าประชาธิปัตย์ลงไปได้
น่าสนใจว่า “ประชาธิปัตย์” พรรคที่เก่าแก่ที่สุดของการเมืองไทย จะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต