ผู้นำเวเนฯ ประกาศสั่ง ตัดไฟบ้างเวลา 30 วัน พร้อม ‘ปิดโรงเรียน-ลดเวลาทำงาน’ รับมือวิกฤตไฟฟ้าดับ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไม่สามารถผลิตน้ำป้อนประชาชนได้ ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ไฟส่องสว่างตามท้องถนน ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ
สำนักข่าวเอเอฟพี เปิดเผยว่า ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ออกประกาศมาตรการตัดไฟเป็นบางช่วงเวลานาน 30 วัน พร้อมสั่งลดเวลาทำงานและปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่
มาตรการนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ และวิกฤตพลังงานคราวนี้จะยังคงยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่เคยออกมาโทษว่าเป็นฝีมือการก่อวินาศกรรมโดยสหรัฐฯ
ประธานธิบดี มาดูโร ได้แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์วานนี้ (31 มี.ค.) ว่า ได้อนุมัติแผนสลับตัดไฟเป็นเวลา 30 วัน และจะ “เน้นจ่ายน้ำประปาให้ได้ตามปกติ”
โครงสร้างพื้นฐานที่เก่าแก่ ขาดการซ่อมบำรุง และแทบไม่ได้เม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐล้วนเป็นปัจจัยที่นำมาสู่วิกฤตพลังงานในครั้งนี้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นล้านๆ เปอร์เซ็นต์ยังกระตุ้นให้บุคลากรที่มีคุณภาพสูงเกิดอาการ ‘สมองไหล’
เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเวเนฯ ราว 25,000 คนได้อพยพหนีออกนอกประเทศ เช่นเดียวกับพลเมืองอีกราว 2.7 ล้านคนที่ตัดสินใจหนีไปตั้งรกรากใหม่ในต่างแดนตั้งแต่ปี 2015
ทางการเวเนซุเอลา โดยนาย ฮอร์เก โรดริเกวซ รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารเวเนฯ แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์วานนี้ (31มี.ค. 62) ประกาศมาตรการ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า คือ รัฐบาลขอให้โรงเรียนต่างๆ ระงับกิจกรรมต่อไปก่อน และให้องค์กรภาครัฐและเอกชนลดเวลาทำงานถึงแค่ 14.00 น.
การขาดแคลนไฟฟ้า ทำให้สถานีสูบจ่ายน้ำประปาไม่สามารถส่งน้ำไปยังบ้านเรือนประชาชนได้ เช่นเดียวกับสัญญาณไฟจราจร ไฟส่องสว่างตามท้องถนน ปั๊มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ
วินสตัน คาบาส ประธานสมาคมวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกลแห่งเวเนซุเอลา ยอมรับกับเอเอฟพีว่า “สถานการณ์ถือว่ารุนแรงมาก และคงจะเกิดปัญหาไฟดับ หรือมีการสลับตัดไฟอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ”
“เวลานี้โครงข่ายไฟฟ้าทั้งหมดผลิตไฟได้เพียง 5,500-6,000 เมกะวัตต์ จากที่เคยมีกำลังผลิตมากถึง 34,000 เมกะวัตต์”
รัฐบาลมาดูโรเคยออกมาโทษ “ผู้ก่อการร้าย” ว่าลงมือโจมตีโรงไฟฟ้าพลังน้ำกูรี (Guri) ในรัฐโบลิวาร์ ซึ่งผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการ 80% ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้ากูรีเริ่มส่อเค้ามีปัญหามาตั้งแต่ปี 2010 ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี อูโก ชาร์เบซ ซึ่งจำเป็นต้องสลับตัดไฟในบางรัฐของเวเนซุเอลา เนื่องจากภัยแล้งในปีนั้นทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำกูรีลดต่ำลงมาก
ความล่มสลายทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลงของชาวเวเนซุเอลาได้นำมาสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่าง มาดูโร กับผู้นำฝ่ายค้าน ฮวน กวยโด ซึ่งตั้งตนเป็นประธานาธิบดีรักษาการโดยมีสหรัฐฯ และอีก 50 กว่าประเทศทั่วโลกให้การหนุนหลัง