ปิดอ่าวฝั่งอันดามัน 3 เดือน “ฟื้นฟูทรัพยากร” เริ่ม 1 เม.ย.นี้

ปิดอ่าวฝั่งอันดามัน 3 เดือน “ฟื้นฟูทรัพยากร” เริ่ม 1 เม.ย.นี้


กรมประมงปิดอ่าวฝั่งอันดามัน 3 เดือน หวังฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เริ่ม 1 เม.ย.62

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ณ บริเวณท่าเทียบเรือศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) ตำบลไสยไทย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ กรมประมงจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2562

นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สำหรับมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน กรมประมงจะดำเนินการตามมาตรการเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 62 ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และ จังหวัดตรัง พื้นที่ทั้งหมด 4,696 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวมาแล้วถึง 33 ปี นับว่าเป็นมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่กรมประมงให้ความสำคัญมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้มีโอกาสฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

สำหรับการปิดอ่าวฝั่งอันดามันนั้น จะกำหนดเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเท่านั้นที่ทำการประมงได้ ตามประกาศกรมประมง เรื่อง “กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และจังหวัดตรัง พ.ศ. 2561” ซึ่งประกาศดังกล่าว กรมประมงได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มชาวประมงต่างๆ อาทิ กลุ่มประมงพาณิชย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียในภาคการประมง ร่วมกันเสนอความคิดเห็นเพื่อลดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ และให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด

โดยผลการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2561 ปรากฏว่ามีปริมาณการจับสัตว์น้ำมากขึ้น จากช่วงก่อนมาตรการที่มีอัตราการจับสัตว์น้ำเพียง 243 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 368 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในช่วงก่อนสิ้นสุดมาตรการ และ 619 กิโลกรัมต่อชั่วโมงในช่วงสิ้นสุดมาตรการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ปลาผิวน้ำ ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง และกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า กุ้งทะเลชนิดต่างๆ เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลือหึ่ง! “ช้างศึก” จ่อเซ็นกุนซือสเปนคุมทัพ