สิ่งที่ซ่อนอยู่ ในคำพูดของ “หญิงหน่อย”

สิ่งที่ซ่อนอยู่ ในคำพูดของ “หญิงหน่อย”


ท่าทีล่าสุดของ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค มานั่งโต๊ะแถลงถึงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อบ่ายวันที่ 25 มีนาคม 2562 ประเด็นสำคัญหลังการแถลงข่าวกลับพบว่าเป็น “คำถาม” ที่ปนกับ “ข้อสงสัย” ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างมาก

“เราจะเดินหน้ารวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล อย่างที่บอกเอาไว้ว่า พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถือว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้จัดตั้งรัฐบาล”

นั่นคือวลีที่คุณหญิงสุดารัตน์ สื่อออกไปยังสังคมกับการแถลงล่าสุดที่เกิดขึ้น

ผลที่ว่าดูเหมือนจะย้อนแย้งกับสิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์เคยประกาสเอาไว้ว่า “คะแนน” ของพรรคไหนที่ได้ “มากที่สุด” จะต้องได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน และให้ถือว่าเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ และแน่นอนว่าในชั่วโมงนี้ที่การนับคะแนนผลการเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคพลังประชารัฐของอุตตม สาวนายน ที่ชูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนที่ 30 “คะแนน” ของพวกเขายังคง “นำหน้า” เพื่อไทยอยู่

มันจึงเกิดคำถามว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติ” ในวงการการเมือง แท้จริงแล้วมันเป็นเช่นไรกันแน่ เพราะเสียงของประชาชนที่เรียกว่า “คะแนนรวม” หรือ “จำนวนเก้าอี้ส.ส.” กันแน่ ที่พรรคใดได้มากที่สุด จะได้มีโอกาสฟอร์มทีมรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศต่อไป

แน่นอนว่า สิ่งที่ “หญิงหน่อย” ประกาศออกมาล่าสุด โลกออนไลน์ โลกของการเมืองไทย มันอาจทำให้หลายคนคิดว่าเธอกำลัง “กลืนน้ำลาย”ของตัวเอง เพราะแม้ว่าค่ำวันที่ 24 มีนาคมหลังปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังย้ำชัดว่า “คะแนนเสียงของประชาชนที่มากที่สุด พรรคไหนได้ก็จะได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล” และคล้อยหลังยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงดีนัก คุณหญิงสุดารัตน์กลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิม ไมค์ยื่นใส่หน้า และย้ำคำว่า “ส.ส.ที่มากที่สุด คือฉันทานุมัติจากประชาชนที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล”

แม้จะเป็นเสมือนว่า “เลี่ยงบาลี” เพราะต่อให้เถียงกันจนหมดลมหายใจลงไปต่อหน้า ก็คงหาคำตอบไม่ได้ว่า “คะแนนที่ได้รับ” หรือ “จำนวนส.ส.” สิ่งใดที่จะมอบสิทธิ์ให้พรรคนั้นได้จัดตั้งรัฐบาลตามประเพณีปฏิบัติกัน เพราะดูเหมือนว่าทั้งสององค์ประกอบก็มาจาก “เสียงของประชาชน” แทบทั้งสิ้น แต่ผลลัพธ์ที่หยิบยกไปใช้ มันขึ้นอยู่กับว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้บ้าง ทั้งฟากฝั่งของพลังประชารัฐ และเพื่อไทยเองก็ตาม

แต่นัยยะที่ “หญิงหน่อย” จำต้องออกมาประกาศสู้ ถือเป็นการปรับยุทธวิธีในการต่อกรทางการเมืองกับผู้มีอำนาจในขณะนี้ และกับพรรคที่ถูกเรียกว่าจัดตั้งมาเพื่อสานต่ออำนาจให้กับพล.อ.ประยุทธ์ เธอจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพลิกเกมเดินหมากสู้ต่อไป เพราะหนึ่งก็คือตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ค้ำคอ และหนึ่งคือศักดิ์ศรีของนักการเมืองรุ่นใหญ่ที่อยู่คู่เมืองไทยมาช้านาน มันจึงทำให้เธอ หรือหญิงหน่อยคนนี้ “แพ้ไม่ได้”

เพราะหากไม่สู้ต่อ มันจะยิ่งทำให้ “บิ๊กเนม” ของพรรคเพื่อไทย 97 ชีวิต ที่ต่อแถวในบัญชีรายชื่อส.ส. หรือปาร์ตี้ลิสต์ ต้องจบชีวิตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ทันที เพราะแม้แต่ตัวคุณหญิงสุดารัตน์เอง หรือตัวของ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาฯ พรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค เป็นต้น จะหลุดโผไม่ได้แม้แต่เก้าอี้ส.ส.มาครอง นั่นเพราะวิธีการนับคะแนนในกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ หากพรรคที่ชนะเขตได้เก้าอี้ส.ส.ในพื้นที่ตามวิธีการคำนวณส.ส.พึงได้ของระบบการเลือกตั้งใหม่ คะแนนที่ประชาชนมอบให้จะไม่ถูกมานับในระบบปาร์ตี้ลิสต์

นั่นย่อมเท่ากับว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวและทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยจะ “เหนื่อยฟรี” และมันอาจทำให้ เพื่อไทย ถึงกับสูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่ามันย่อมไม่ถูกใจชายที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ว่ากันว่าอยู่เบื้องหลังของเพื่อไทยเป็นแน่

องค์ประกอบนี้เองจึงทำให้ “หญิงหน่อย” อาจจำต้องกลืนน้ำลาย และลืมคำว่า “คะแนนมากสุด” และฝังความคิดตัวเองให้ และมอบให้กับสังคมด้วยวลีใหม่ที่ว่า “จำนวนส.ส.มากที่สุด” ถึงจะได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะสมรภูมิการเมืองนี้ เธอต้องสู้สุดชีวิต สู้แบบ “แพ้ไม่ได้”