“5G ทางการแพทย์” รพ.ในบาร์เซโลนาสาธิตการผ่าตัดผู้ป่วยที่อยู่ห่างออกไป 5 กม.ด้วย 5G ไร้สาย ฟากจีนทดลองกับสุกรที่ไกล 50 กม.สำเร็จ ผู้เชี่ยวชาญชี้ คือความหวังใหม่วงการแพทย์
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่าน ในงานมหกรรมมือถือและการสื่อสารโทรคมนาคมโลก เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โรงพยาบาล คลินิก เดอ บาร์เซโลนา ได้แสดงการผ่าตัดมนุษย์แบบเรียลไทม์หรือในเวลาจริงเชื่อมต่อกับวิดีโอ โดยควบคุมจากระยะไกลผ่านเครือข่าย 5G ให้แขนหุ่นยนต์ผ่าตัดมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก
ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวได้รับการเปิดเผยว่ามีเนื้องอกในลำไส้และพำนักอยู่ในโรงพยาบาลที่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร ซึ่งการเชื่อมต่อ 5G มีเวลาล่าช้าเพียง 0.01 วินาทีเมื่อเทียบกับระบบเครือข่ายเดิมที่ช้ากว่าอย่าง 4G
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้มีการนำเสนอข่าวว่า ประทศจีนประสบความสำเร็จในการผ่าตัดระยะไกลครั้งแรกของโลกผ่านเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือ 5G เช่นเดียวกัน โดยได้ทำการผ่าตัดสุกรตัวหนึ่งในเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน
กลีบข้างหนึ่งของตับหมูถูกตัดออกภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง โดยฝีมือแพทย์ผู้ควบคุมแขนผ่าตัดหุ่นยนต์ ด้วยความเร็วตอบสนอง (Latency) เพียงแค่ 0.1 วินาที ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G ที่ติดตั้งโดยบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี
รายงานพบว่า แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กและมีเลือดออกน้อยมากในระหว่างการผ่าตัด อีกทั้งสัญญาณชีพที่สำคัญของหมูนั้นก็ค่อนข้างคงที่จนถึงปัจจุบัน โดย ดร.หลิวหรง หัวหน้าศัลยแพทย์ ทำการผ่าตัดหมูตัวนี้ในหน่วยงานสาขาที่ฝูเจี้ยนขอ งChina Unicom ผู้ให้บริการมือถือเจ้าใหญ่ของจีน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวหมูในมหาวิทยาลัยการแพทย์ฝูเจี้ยน เป็นระยะทางประมาณ 50 กม.
ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้จุดประกายความหวังว่าเทคโนโลยีใหม่นี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์ในอนาคต โดยเวลาในการตอบสนองของเทคโนโลยี 5G ลดลงถึง 20 เท่าเมื่อเทียบกับ 4G ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในอนาคต เครือข่าย 5G จะช่วยให้ศัลยแพทย์ควบคุมแขนหุ่นยนต์เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ที่มาข่าว : China Xinhua News, thairath