โดย…วรกร เข็มทองวงศ์
ความรุนแรงในสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 จนถึงเหตุบุกยิง 2พระภิกษุวัดรัตนานุภาพอ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำให้ความหวดหวั่นกลับมาครอบคลุมพื้นที่อีกครั้ง คำถามคือเมื่อไหร่ ปัญหาความรุนแรงจะหมดไปอย่างแท้จริง หรือรัฐกำลังเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ในแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะในมุมความเป็นจริง ก็ดูเหมือนว่า ไฟ มันยังไม่มีทีท่าว่าจะดับลง
วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเล็งช่วงเวลาไว้ในเดือนมกราคม เพราะเป็นเดือนครบรอบ 15 ปีของการก่อเหตุใช้ความรุนแรง วันที่ 4 มกรมคม 2547 การปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จึงเข้าสู่วงรอบตรงนี้ ประกอบกับว่าปีนี้ เรามีการเลือกตั้ง
‘เราจะได้เห็นว่านโยบายเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของพรรคการเมืองต่างๆ มันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์ทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ พรรคไหนจะมีนโยบายที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับพี่น้องในพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งนั้น มันอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของสามจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่า เขาจะเข้าถึงมวลชนยากแล้ว เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบไม่สามารถฝังตัวในพื้นที่ได้แล้ว เพราะประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นการแก้ปัญหาในรูปแบบการพัฒนาต่างๆ ของนโยบายพรรคการเมือง ในจชต.จึงสำคัญมีผลอย่างมาก เพื่อเอาสถานการณ์นี้เร่งเร้าพรรคการเมืองให้แก้ไขสถานการณ์ในทุกมิติ’
‘บวชพระเพิ่มแรงใจคนพื้นที่’
ส่วนประเด็นบวชพระเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจริงเท็จหรือไม่นั้น แต่หากเกิดขึ้นจริงๆนั้น อ.วันวิชิต มองว่าไม่ใช่พระที่จะไปแฝงเร้นเพื่อสืบข่าวไม่ใช่ แต่คงจะไปปฏิบัติธรรมจริงๆ อย่างน้อยเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องชาวไทยพุทธ
‘ทหารที่ไปบวชพระจะไม่เหมือนกรณีเมียนมา ที่มุ่งเน้นไปที่การสอดแหนม แต่เป็นการบวชตามประเพณีนี้ ตรงไปตรงมา เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความอุ่นใจสบายใจ ที่ผ่านมา เวลาพระสงฆ์บิณฑบาต จะมีทหารคุ้มกัน อันนี้อาจจะเป็นเป้าไม่ปลอดภัย เมื่อมีพระเข้าในเขตพุทธาวาส ประชาชนก็รู้สึกปลอดภัย ยิ่งเมื่อทหารบวชมาเป็นพระ ฝ่ายทหารก็จะเข้ามาทำบุญ มีกิจกรรมกันมากขึ้น ตรงนี้เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ‘
‘เลือกตั้งตัวแปรสถานการณ์’
ขณะที่ประเด็นการเลือกตั้ง กลายมาเป็นประเด็นหนึ่งในเหตุความไม่สงบในพื้นที่ วันวิชิต กล่าวว่า ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น มันเป็นเรื่องของหน่วยงานความมั่นคงที่เข้ามากำกับสถานการณ์ ในอนาคตไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนที่เข้ามาเป็นรัฐบาล และเน้นชูแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ต้องนำนโยบายไปเป็นเครื่องมือประกอบหรือไปอธิบายกับหน่วยงานความมั่นคงด้วย เพราะฝ่ายการเมืองก็ต้องการสร้างผลงาน เช่นเดียวกันฝ่ายความมั่นคง ตรงนี้ก็จะมีภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ทหารคุม100% อาจจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาดูด้วย
‘รอยต่อเปลี่ยนผ่านอำนาจมีส่วนกับสถานการณ์’
ในขณะที่ประเด็นการพูดคุยสนติสุข ที่ดูเหมือนว่าไม่มีความคืบหน้ามาตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ในเรื่องการพูดคุยนั้น ยังรอการปรับโหมดเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง มันก็จะมีผลต่อการรับฟังนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนพิเศษ จะยังมีต่อไปหรือไม่ หรืออย่างในกรณีที่ คสช. ทำการแต่งตั้งพล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูรเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ข้ามห้วยมารับตำแหน่ง ซึ่งถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่งตั้งบุคคลจากกระทรวงมหาดไทยมารับตำแหน่งแทน จะส่งผลกระทบต่อนโยบายที่ คสช.วางทิ้งไว้หรือไม่
‘หรือแม้กระทั่งพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ แผนความมั่นคงจะเปลี่ยนมือจากฝ่ายความมั่นคงเป็นพลเรือนนำ จะมีผลหรือไม่ รวมทั้งจะส่งคนจากพรรคการเมือง จะส่งผลอย่างมากในการชะลอตัวของนโยบายการพัฒนา เพราะยังไม่ทราบชัดว่าการลงหลักปักฐานหรือหว่านงบประมาณไปเยอะๆนั้น ก็มีความไม่แน่ใจว่าความต่อเนื่องจะมีอยู่หรือไม่ ถ้ารัฐบาลหรือผู้บริหารไม่ใช่ชุดเดิม ‘
‘ภาพสะท้อนคนพื้นที่ไม่ยอมรับยิ่งก่อเหตุยาก’
สำหรับประเด็นการรวมตัวไม่เอาความรุนแรงในพื้นที่ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น อ.วันวิชิต กล่าวว่า ความรุนแรงน่าจะลดลง เพราะว่าพี่น้องไทยพุทธไทยมุสลิมในพื้นที่ ได้ประสานกันในการที่ไม่ยอมรับความรุนแรงกับเป้าหมายที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆก็ตาม การใช้ความรุนแรงไม่ได้รับการยอมรับ
‘แล้วเราจะสังเกตว่าพี่น้องมุสลิมหลายพันคน หลายกลุ่มต่างกิจกรรมต่างวาระ เข้าก็ออกมาแสดงให้รู้ว่ารับไม่ได้และเขาก็ไม่ยอมให้ตัวเองเป็นจำเลยทางสังคม ในสายตาพี่น้องคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ เขาต้องการแสดงตัวในการมีส่วนร่วมกับการรักษาสันติสุข แล้วปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกเงื่อนไข ภาพตรงนี้ก็จะทำให้คนนอกพื้นที่รู้สึกสบายใจ’
นอกจากนี้ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังมองไปอีกว่า การที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพุ่งเป้าไปโจมตีผู้อ่อนแอนั้น หมายความว่าการเคลื่อนไหวของเขา ไม่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ เพราะถ้าประสบความสำเร็จ เขาจะไม่เลือกใช้วิธีแบบนี้