ปรับสัดส่วน “บ้านล้านหลัง” รายได้ต่ำแห่ขอกู้อื้อ

ปรับสัดส่วน “บ้านล้านหลัง” รายได้ต่ำแห่ขอกู้อื้อ


ธอส.จ่อเสนอปรับสัดส่วนบ้านล้านหลังใหม่ หลังพบผู้มีรายได้ต่ำขอกู้มากกว่าที่คาด เผยอนุมัติไปแล้ว 500 บัญชีวงเงิน 320 ล. ด้านทีดีอาร์ไอห่วงเรื่องดอกเบี้ยลอยตัวกระทบการชำระหนี้

วันที่ 22 มกราคม 2562 – นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการบ้านล้านหลัง มีประชาชนมาจองสิทธิ์เข้ายื่นเอกสารกู้เพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว 1,000 บัญชี วงเงินทั้งหมด 600 ล้านบาท และได้ทำการอนุมัติไปแล้ว 500 บัญชี วงเงิน 320 ล้านบาท โดยอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปี 2562 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ราว 40,000 ล้านบาท จากวงเงินในโครงการ 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80%

อย่าไรก็ตาม ธอส.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับสัดส่วนวงเงินเดิมในโครงการจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยให้มีสัดส่วนสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท/เดือน เป็นวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท และปรับลดในสัดส่วนผู้มีรายได้สูงกว่า 25,000 บาท/เดือน เหลือ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท/เดือน แสดงความต้องการมีที่พักอาศัยจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ธอส.จะต้องขอครม.อนุมัติงบประมาณในการชดเชยอัตราดอกเบี้ยอีกราว 800 ล้านบาท

ขณะที่ นางจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ นักวิจัยอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงการบ้านล้านหลังยังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในระยะหนึ่ง จากนั้นจะปรับขึ้นในลักษณะดอกเบี้ยลอยตัว และเป็นการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากคงที่ถึง 2 เท่า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ได้

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับโครงการ ควรเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยกำหนดให้คงที่ใน 3 ปีแรก จากนั้นค่อยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดจนลอยตัว ซึ่งจะช่วยผู้กู้ให้ปรับตัวกับการผ่อนชำระ