อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแพงขึ้น ก็มีกระบวนการทุบราคาข้าวเปลือกหอมมะลิให้ต่ำลง เช่น กระแสข่าวที่บอกว่ามีชาวนานำข้าวนาปรังไปปลอมปนขายกับข้าวเปลือกหอมมะลิ เรื่องนี้หากเป็นจริงพ่อค้าข้าวควรระบุให้แน่ชัดว่าที่ใด จังหวัดใด หากปล่อยข่าวแบบนี้ไม่เป็นผลดีเช่นกัน
ปรากฏการณ์ที่เกษตรกรเร่งนำผลผลิตไปขายเพราะราคาข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ เช่น เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา แห่นำข้าวเปลือกทั้งเกี่ยวสดและตากแห้งไล่ความชื้นมาส่งโรงสีข้าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจนค่ำ หลังราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิที่หน้าสหกรณ์การเกษตรอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปีที่ผ่านมาถึงกิโลกรัมละ 16.50 บาท หรือตันละ 16,500 บาท ขึ้นลงตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นของข้าว ส่วนข้าวเปลือกเกี่ยวสดไม่วัดค่าความชื้นจะรับซื้ออยู่ที่ตันละ 13,900 บาท โดยสาเหตุที่ปีนี้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูง เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ในหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ข้าวยืนต้นตายเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีนี้คาดว่าผลผลิตจะลดลงมากกว่าครึ่ง จึงทำให้ราคาข้างพุ่งสูงตามกลไกตลาด
ขณะที่ชาวนาจากหลายพื้นที่ เช่น อ.สตึก อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ และ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ได้นำข้าวเปลือกทั้งที่เกี่ยวสดและข้าวเปลือกที่ตากแห้งแล้ว บรรทุกใส่รถกระบะและรถหกล้อมารอขายที่ “โรงสีสหพัฒนาค้าข้าว” อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ อย่างต่อเนื่อง หลังจากโรงสีเปิดรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 17 บาท หรือตันละ 1.7 หมื่นบาท
ทั้งนี้ สาเหตุที่ปีนี้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูง เนื่องจากปีนี้นาข้าวส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงมายาวนาน ทำให้นาข้าวยืนต้นตายเสียหายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีผลผลิตไปจำหน่ายให้กับโรงสี จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งด้วย
ร้องสอบกระบวนการจ้องทุบราคา
“ในประเด็นนี้ผมได้นำเสนอให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าการปล่อยข่าวเช่นนี้เป็นการปล่อยข่าวแบบโคมลอย และมีเจตนาที่จะทุบราคาข้าวเปลือกหอมมะลิให้ตกต่ำลงอย่างชัดเจน และกลุ่มโรงสีรวมถึงพ่อค้าข้าวจะได้ประโยชน์ในทันที และถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และไม่เป็นธรรมต่อชาวนา โดยพวกเราชาวนาถูกกระทำมาตลอด และเราไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวเปลือกเองได้ และพอกลไกตลาดทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เพราะว่าผลผลิตมีออกมาน้อย พ่อค้าคนกลางก็มาสร้างข่าวเพื่อทุบราคาข้าวเปลือกให้ตกต่ำลงในทันที ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้พ่อค้าคนกลางรวมหัวกันกดราคารับซื้อข้าวเปลือก” นายสุเทพกล่าว
จับตาข้าวถุงฉวยขึ้นราคา
นายสุเทพกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอาจไม่สูงไปกว่านี้มากนัก หากเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะช่วงนี้เป็นต้นฤดูการเก็บเกี่ยว ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เป็นข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ กข-15 ถือเป็นข้าวคุณภาพดีแต่มีจำนวนไม่มาก หลังจากนี้อีกประมาณ 10 วัน จะมีข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ มะลิ-105 ออกมา ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีแต่ระยะเก็บเกี่ยวมากกว่า 10 วัน จะสุกพร้อมกันทั่วภาคอีสานและมีจำนวนมากออกสู่ตลาด สิ่งที่ต้องจับตาขณะนี้คือ เมื่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแพงขึ้นและราคาข้าวนาปรังก็ไม่ได้ต่ำลง คือข้าวสารบรรจุถุงจากบริษัทค้าข้าว จะปรับราคาขายข้าวสารทุกชนิดขึ้นไปหรือไม่ และหากขึ้นราคาจะอ้างเหตุข้าวเปลือกแพงขึ้นหรือไม่ ซึ่งชาวนาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะราคาข้าวเปลือกทุกชนิดผันผวนตามกลไกตลาด แต่ข้าวสารบรรจุถุงไม่ได้ปรับราคาลงตามในช่วงที่ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ดังนั้น หากราคาข้าวเปลือกแพงขึ้น ข้าวสารบรรจุถุจึงไม่ควรปรับขึ้นในทันที
พล.อ.ฉัตรชัย ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของสมาคมชาวนาฯเพียงสั้นๆ ว่า เกี่ยวกับเรื่องการดูแลราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ตนจึงไม่สามารถเข้าไปดูแลหรือจัดการตามที่สมาคมชาวนาฯร้องขอได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ว่าจะมีแนวทางจัดการหรือแก้ไขอย่างไร
นายกฯดีใจราคาข้างหอมมะลิสูง
ในขณะที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยพี่น้องชาวนาที่ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในช่วงนี้ โดยได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ จะช่วยจัดหารถเกี่ยวข้าวในราคาที่เหมาะสมให้เพียงพอ เพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวได้ทัน ผลผลิตมีคุณภาพดี และขายได้ในราคาสูง
“นายกฯพอใจสถานการณ์ราคาข้าวที่มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมา เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิมีราคา 16,000-17,000 บาทต่อตัน บางพื้นที่ขึ้นไปถึง 18,000 บาท สูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับข้าวเปลือกเจ้าทั้งสดและแห้งที่มีราคาสูง” นายพุทธิพงษ์กล่าว และว่า นอกจากการจัดหารถเกี่ยวข้าวให้เพียงพอแล้ว จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวขนย้ายรถเกี่ยวนวดข้าว และเก็บค่าธรรมเนียมนอกสถานที่ในอัตราต่ำสุดด้วย พร้อมกันนี้นายกฯได้กำชับให้ทุกหน่วยงานไปสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรถึงการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
พิจิตรชี้ข้าวนาปรังราคาตก
นายประยูร ศิลลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บางราย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังสับสนเรื่องราคาเลือกข้าวหอมมะลิที่รัฐบาลอ้างว่าราคาตันละ 16,000-17,000 บาท แต่ปรากฏว่าพ่อค้าคนกลางรับซื้อข้าวหอมมะลิจากชาวนาเพียงตันละ 12,500-13,000 บาท ชาวนาจึงข้องใจว่าพ่อค้าคนกลางกดราคาหรือรัฐบาลให้ราคาเพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าราคาข้าวขณะนี้ดีจริง
“แต่สิ่งที่ชาวนากังวลและกังขามากคือเรื่องราคาข้าวนาปรังซึ่งตอนนี้ราคาตก พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาเพียงตันละ 6,000-6,200 บาท ชาวนาอยู่ไม่ได้เนื่องจากต้นทุนในการทำนาสูง ประกอบกับราคาปุ๋ย-ยา ขึ้นราคา จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคาข้าวนาปรัง อยากเรียกร้องให้ช่วยราคาข้าวจาก 6,000 บาท มาเป็น 7,500-8,000 บาท ซึ่งหากได้ราคานี้ชาวนาอยู่ได้โดยไม่ขาดทุน เพราะว่าชาวนาบางคนต้องเช่าที่ทำนา จึงมีค่าใช้จ่ายสูง” นายประยูรกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้าวกัมพูชา มีดีอะไร? ข้าวหอมมะลิไทย ถึงเสียแชมป์!!!
ข้าวหอมมะลิ-มันสำปะหลัง ราคาพุ่งสูงสุดรอบ10ปี