p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 12.0px 0.0px; text-align: justify; text-indent: 56.7px; font: 20.0px Cambria; -webkit-text-stroke: #000000}
span.s1 {font-kerning: none}
span.s2 {font: 20.0px ‘Angsana New’; font-kerning: none}
รัฐบาลได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างใกล้ชิด แม้ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ แต่เมื่อรู้ว่าจะเกิดก็จำเป็นต้องป้องกันเพื่อลดความเสียหาย โดยแจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การป้องกันเหตุจมน้ำ เมื่อเกิดขึ้นแล้วพวกเราก็ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ทุเลาเบาบางลง ได้มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ด้านสาธารณภัยพร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมงและช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด ทุกหน่วย งานทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายบรรเทาสาธารณภัย ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ และทหาร ต้องช่วยกันระดมสรรพกำลังลงไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชน ผู้ประสบภัย ปลอดภัย อุ่นใจ และกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด สำหรับการฟื้นฟู การสำรวจความเสียหาย ต้องพร้อมปฏิบัติทันที ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลายลง
ทั้งนี้ ก็ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าติดตามประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดนะครับ สำหรับผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสาขาในพื้นที่ หรือโทรฯสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชม. นะครับ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนนั้น ผมขอให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลพยายามจะดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักให้มากที่สุดนะครับ ที่สำคัญก็คือรัฐบาลและประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันต่อไป
ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย ได้ไปศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหา “น้ำท่วม” ในพื้นที่ภาคใต้อย่างยั่งยืนให้ได้โดยเร็ว ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และก็จะจัดนำบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ระยะยาว ของรัฐบาลด้วย
พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านครับ ถ้าเราทบทวนกันให้ดี ให้รอบด้านเราจะพบว่าปัญหาต่าง ๆ ในประเทศล้วนเกิดจาก “คน” เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นหาก “คนไทย” ไม่ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐาน สุดท้ายก็จะสร้างปัญหาสังคม อีกทั้งหากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้เป็นระดับสากลก็จะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะประชากรของประเทศนั้นจะทำมาหากินไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่ยั่งยืน ปัญหาทั้ง 2 มิตินั้น จะผสมผสานกัน ทำให้เกิดแรงต้านเชิง “ลบ” กลายเป็นปัญหาการเมือง จนในที่สุดกระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม อีกด้วย
“ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญด้าน “การพัฒนาคน” ด้วยการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสถานที่ห่างไกล ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่พี่น้องประชานเหล่านั้น โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” ทรงสร้าง “โรงเรียนร่มเกล้า” ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และในพื้นที่ปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทรงตั้ง “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” สำหรับบุตรธิดาของผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้มีโอกาสได้เรียนและไม่ถูกรังเกียจ และอีกหลายๆโรงเรียนนะครับ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบันได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยทรงน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่งซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งขึ้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ “โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา”ในจังหวัดนครพนม กำแพงเพชร และสุราษฎร์ธานี และ “โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี” ในจังหวัดอุดรธานี สงขลา และฉะเชิงเทรา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ ด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยัง พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัยเช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดังกล่าว ดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน และทรงติดตามผลการศึกษา รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆอยู่เสมอ
ในส่วนของรัฐบาลนี้นอกจากน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” อันนับว่าเป็นแนวทางพระราชทาน มาสู่การปฏิบัติแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ไปสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดวิเคราะห์ ความคิดริเริ่ม มีจินตนาการมีการสนใจข้อมูลข่าวสารรอบตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ และการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และการประกอบกิจการใดๆ ความสนใจใฝ่รู้ และศึกษาแนวโน้ม คาดการณ์อนาคต บนพื้นฐานของฐานข้อมูลและสถิติ และการศึกษา เพื่อการประกอบอาชีพ “ทุกคนมีงานทำ” แบบนี้เป็นต้นนะครับ ซึ่งได้มีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ทางวิชาการความรู้ทางปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ด้วยการบริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาใหม่ สามารถลดเวลา “นั่งเรียน” ในห้อง แล้วเพิ่มเวลา “การปฏิบัติ” นอกห้องเรียน ได้ราว 1,000 ถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปี โดยให้เพิ่มสาระในการเรียนรู้ดังกล่าว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้มากที่สุด และนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง
สำหรับการบริหารจัดการเวลาเรียนภาษาอังกฤษนั้น สามารถ “ขยายเวลา” เรียนภาษาอังกฤษ ในชั้นประถมศึกษา จากเดิม 40 ชั่วโมงต่อปี เป็น 200 ชั่วโมงต่อปีนะครับ รวมทั้ง การจัดทำแอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ “Echo English” เพื่อสร้างมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียนโดยอิงมาตรฐานสากล (CEFR ) มาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย นอกจากนั้นมีการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษา (UniNet) สำหรับสถานศึกษาใช้บริการ มากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ และโครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบผ่านทีวีสาธารณะ ในการติวเข้มเต็มความรู้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการศึกษา ETV ของกระทรวงศึกษาธิการ และ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นต้น มีกลุ่มเป้า หมายและผู้ใช้บริการปัจจุบันมากกว่า 2.4 ล้านคน และการพัฒนา กศน.ตำบล ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต “ในชุมชน” และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก ภายใต้การ “เชื่อมโยง” ศูนย์เรียนรู้ ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล, ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน ได้มีการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ด้านการศึกษามาประยุกต์ใช้ โดยเน้นการ “แทรกซึม” ไปสู่หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ก็คือ “ครอบครัว” และหมู่บ้านแล้ว หน่วยงาน และบุคลากรทางการศึกษา และรัฐบาล จะต้องสร้างความมั่นใจว่าในอนาคตประเทศไทยจะมี “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศสืบไป
โดยภาพรวมแล้ว แนวทางการบริหารประเทศ ด้วย “ศาสตร์พระราชา” ของรัฐบาลนี้ มีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ อันประกอบด้วย ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยึดถือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” คือ ทำให้ประชาชนมีความสุข มีความพึงพอใจ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG 2030 ของ UN สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรักษาสมดุล ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการแก้ปัญหา ตามแนวทางสันติวิธี และยึดแนวทางการพัฒนา “สีเขียว”
ส่งเสริมการปฏิรูป ที่กว้างขวางและลึกซึ้งในทุกมิติ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จัดทำแผนงาน – โครงการ ที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ได้กำหนดเป็นกิจกรรมหลัก รอง เสริม ในทุกประเด็นของการปฏิรูป ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ล่วงหน้าและตามห้วงระยะเวลา เสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้ประเทศชาติและประชาชน โดยให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และมีอัตลักษณ์ไทย
วางรากฐานของประเทศที่มีประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ความเป็นไทย อันงดงาม สร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง โดยรักษาความเป็นธรรม ความถูกต้อง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค สร้างความหวังและศรัทธา บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ แล้วทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในสิ่งที่ดีกว่า สร้างประเทศที่มี “ความเท่าเทียม” ทางสังคม และ “ไม่เหลื่อมล้ำ” ทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาและปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับฐานราก ให้เข้มแข็ง มั่นคง และปลอดภัย สร้างประเทศไทยให้เป็น “นิติรัฐ” เสริมด้วยการปฏิบัติงานที่คำนึงถึง ทั้งรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
ยกระดับคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยยกระดับประเทศไทยในเวทีโลก อย่างมียุทธศาสตร์ เอาจริงเอาจังกับการป้องกัน ปราบปราม และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยสร้างกลไกการทำงาน กลไกการตรวจสอบที่มีการบูรณาการ และสามารถป้องกันปัญหาได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างศักยภาพระบบราชการไทย, ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง กองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทันสมัย สร้างความเชื่อมั่น และเป็นที่พึ่งของประชาชน ได้ตลอดเวลา รักษาความสัมพันธ์อันดีกับ “ทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาค” ในประชาคมโลก ด้วยการพัฒนาสัมพันธ์ด้วยความร่วมมือที่สร้างสรรค์ ทั้งในระดับทวิภาคี และ พหุภาคี เพื่อให้เกิดความสมดุลและเสถียรภาพของโลก
ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และอาเซียน ในการพัฒนาร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องเดินหน้าไปพร้อมๆกันตามศักยภาพที่ประเทศมีอยู่ กระชับความสัมพันธ์ ในลักษณะเป็น “ห่วงโซ่” เดียวกัน ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และ ขยายความร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา และเชื่อมโยงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ในลักษณะเป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” อย่างเป็นรูปธรรม
พี่น้องประชาชนครับ ผมมีเรื่องที่อยากทำความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้ ในการจัดทำโครงการใดๆ ก็ตาม อาทิเช่น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ เหล่านี้ เป็นต้นนะครับ ทุกภาคส่วนย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ข้าราชการ ประชาชน ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบธุรกิจเอกชน ในการดำเนินการบางเรื่อง บางโครงการ อาจจะตัดผ่าน หรืออ้อมผ่านพื้นที่ของรัฐบ้าง ของประชาชนบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ตามหลักวิชาการ และทำให้การใช้จ่ายงบประมาณนั้น คุ้มค่ามีประสิทธิภาพ
สำหรับประชาชนที่ต้องสูญเสียพื้นที่จากการเวนคืน หากเราจะคิดแต่มุ่งรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม หรือสาธารณชนที่จะได้รับจากโครงการต่างๆ เช่น เพื่อการแก้ปัญหาการจราจรของชาติ แต่หากเราพึงพอใจกับความเป็นอยู่แบบเดิมๆ ของตน หรือเคยชินกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน และเราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราปล่อยไว้ไม่ดำเนินการใดๆเลย ปัญหาต่างๆเหล่านั้น ก็คงจะไม่ได้รับการแก้ไขนะครับ ทั้งนี้รัฐบาลเข้าใจถึงการสูญเสียเหล่านั้นนะครับ ผมก็ไม่อยากให้มีผลกระทบกับใครทั้งสิ้น ฉะนั้นก็ขอให้คำนึงถึงส่วนรวมไว้ด้วยว่าจะได้ประโยชน์อะไร และ ประเทศชาติประชาชนจำนวนมากจะได้ประโยชน์อะไร จากการสูญเสียและความเสียสละของท่านในครั้งนี้ เช่น ในปัจจุบัน ในการแก้ปัญหาจราจร ที่ทุกคนบ่นกันว่า จราจรติดขัดมากในกรุงเทพมหานครหรือในเมืองใหญ่ๆนะครับ ในบางครั้งบางโครงการก็ต้องรื้อสะพาน ปรับปรุงถนน เพื่อสร้างรางรถไฟฟ้า ก็เพื่อทำให้ “คนส่วนใหญ่” ได้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวลง เพราะการเดินทางจะสะดวกสบายขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง เป็นการลดการใช้รถส่วนบุคคล ก็จะทำให้ถนนว่างขึ้นในอนาคตนะครับ ผู้ที่ไม่ได้ใช้รถไฟฟ้า ก็จะได้ขับรถสบายขึ้นนะครับ ถ้าหากไม่ทำแบบนี้ มันก็ไม่มีวิธีการอื่นที่จะทำได้นะครับ ที่น่าเสียดายวันนี้ก็คือหลายคนก็อาจจะไม่เข้าใจ พยายามไม่เข้าใจแล้วก็ใช้การยุยงปลุกปั่นบิดเบือนในสื่อโซเชียล ทำให้เกิดความแตกแยก ไม่เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมอยู่แล้วนะครับ และก็ยังทำลายบรรยากาศการสร้างชาติร่วมกันอีกด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่มีความคิดต่างก็ควรจะหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด และดีกับทุกคน แต่ควรเป็นประโยชน์กับ “คนส่วนใหญ่” ของประเทศ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ไปแล้ว “คนส่วนที่เหลือ” ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่นกัน
อีกประเด็น คือ เราทุกคนต้องยอมรับความจริงว่าในการแก้ปัญหาใดใดนั้นที่มีความสลับซับซ้อน เราอาจจะต้องอดทนลำบากในระยะแรกๆ เพื่อจุดมุ่งหมาย “ปลายทาง” ที่สดใสกว่า ดีกว่าเราจะปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป ชั่วลูกชั่วหลาน เช่นในอดีตที่ผ่านมานะครับ “คนไทย” ต้องรักสามัคคีกัน ประเด็นดังกล่าว ที่กล่าวไปแล้วนั้นเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “การบริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ” ซึ่งมีกิจกรรมการจัดหาแหล่งน้ำ การสร้างระบบส่งน้ำ กระจายน้ำ ระบายน้ำ พร่องน้ำ และการทำแก้มลิง
ทั้งนี้บางพื้นที่อาจจะไม่ยอมให้ทำในพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ต้องการน้ำ ต้องการไม่ให้มีน้ำท่วม บางคนก็อาจจะไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้า สร้างเสาไฟ สร้างสายส่ง หรือเดินสายไฟ ผ่านพื้นที่ของตน แต่ก็ต้องการใช้ไฟฟ้าเหมือนกันนะครับ ไฟฟ้าติดตามจุดหลักๆมันก็มีผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกอย่างจะถูกผูกติดไว้กับ “ผลประโยชน์” ของส่วนรวมเป็นหลักนะครับ แล้วก็จะมีผลมาถึงส่วนของตนเองด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ ที่จะทำให้ประชาชนเหล่านี้ ได้เข้าใจถึงการพัฒนาประเทศ ให้เขาได้รับ “เงินทดแทน” ในการเวนคืนที่เพียงพอนะครับ สามารถที่จะรับกันได้ทั้งสองฝ่ายนะครับ คำถามก็คือ “จำนวนเงิน” เหล่านั้น เท่าใดจึงจะเหมาะสมนะครับ ถ้าหากว่าต้องชดเชยมากเกินไปรัฐก็ไม่สามารถจะมีงบประมาณพอจ่ายได้นะครับ หรือน้อยเกินไปท่านก็เดือดร้อน ต้องหาทางออกกันให้ได้นะครับ หา “ความพอดี” ร่วมกันให้ได้ ว่าจะอยู่ตรงไหนกัน
สำหรับการลงทะเบียน “ผู้มีรายได้น้อย” คือต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี หลายคนพยายามไม่เข้าใจนะครับ คือตัวเองก็ไม่ได้มีรายได้น้อยหรอก แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์ไปนะครับ พยายามจะสร้างความแตกแยกภายในประเทศ แบ่งพวกแบ่งฝ่ายนะครับ มีทั้งคนรวย คนจน คนปานกลาง เหล่านี้ ผมถือว่า รัฐบาลวันนี้เป็น “รัฐบาลของทุกคน ในประเทศไทย” นะครับ มีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่เป็น “เจ้าของประเทศ” ไม่เว้นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย ฐานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นการบริหารบ้านเมืองเพื่อรักษาคะแนนนิยมนะครับ ดังนั้น นโยบายนี้มุ่งจะดูแลพี่น้องประชาชน “ผู้มีรายได้น้อย” ทุกกลุ่ม ตามโครงการ “ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” จำนวน 8.3 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านราย และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านราย ร้อยละ 50 เป็นผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และร้อยละ 65 เป็นผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปี จากข้อมูลสถิติเหล่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลือ “ระยะยาว – ยั่งยืน” ต่อไปในอนาคต ทำให้เขาเข้มแข็งให้ได้นะครับ ในช่วงนี้ก็ลำบากอยู่ก็จำเป็นต้องดูแลเขา
ทั้งนี้ ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลก็ได้มีมาตรการต่างๆหลายอย่างนะครับ ในการดูแล แก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกร อย่าเอามาพันกันระหว่างเกษตรกรกับผู้มีรายได้น้อยนะครับ ผมได้แยกแยะให้ทราบตั้งแต่ชั้นต้นแล้วนะครับ ทั้งมาตรการระยะสั้น เฉพาะหน้า มาตรการระยะยาว มาตรการในการสร้างความยั่งยืน อาทิเช่น การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน การปรับปรุงพฤติกรรมการปลูกพืช การส่งเสริม Smart Farmer การชะลอการขายข้าว เหล่านี้เป็นต้น บัดนี้ ถึงเวลาที่จะต้องดูแลพี่น้องประชาชนกลุ่มอื่นๆบ้าง ที่ก็ยากลำบากเช่นกัน เพราะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ภายในและภายนอกประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่บางคนก็อาจจะคิดแคบๆนะครับ อาจจะมองว่า “ใจร้าย” ก็อาจจะจงใจสร้างภาพที่ผิดๆ เพื่อจะทำลายความสามัคคีในหมู่ “คนไทย” ด้วยกันเอง เราช่วยคนที่มีอาชีพอื่นๆไปด้วย ก็กลายเป็นว่า ทำไมไม่ไปช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อย่าลืมประเทศไทยไม่ได้มีเกษตรกรอย่างเดียวนะครับ มีผู้ประกอบอาชีพอิสระ อีกมากมายที่มีรายได้น้อยนะครับ เพราะฉะนั้นเราถือว่า ทั้งหมดนั้นเป็น “คนส่วนใหญ่” ของประเทศ แล้วก็ต่างมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน หากเราปล่อยให้ทุกคนมีชีวิตอยู่อย่าง “ปากกัดตีนถีบ” หรือ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” มันก็ไม่อาจจะสร้างความเข้มแข็ง แล้วก็ถ้าหากเราไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสมและเร่งด่วนนะครับ ที่เราทำนี่เร่งด่วนไปก่อนนะครับ ระยะกลาง ระยะยาว ก็ไปว่าในเรื่องระบบเศรษฐกิจที่จะสร้างห่วงโซ่ ในลักษณะที่เป็นต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เชื่อมต่อ มันก็จะเกิดมูลค่าขึ้นมา แล้วทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าสู่ในระบบการเสียภาษีได้ เพราะมีรายได้สูงขึ้นเกินมาตรฐานที่เรากำหนดไว้
มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสมนะครับ คนเหล่านี้ก็จะเข้มแข็ง สามารถที่จะเข้าไปอยู่ในระบบ ผู้ที่มีรายได้สูงขึ้น มีการเข้าไปอยู่ในระบบภาษีได้ในอนาคตนะครับ ผมไม่ได้มุ่งหวังจะบังคับให้ทุกคนต้องเสียภาษีนะครับ เมื่อพร้อมก็อยู่ในกฎเกณฑ์ที่สามารถดำเนินการได้ เราจะต้องมีฐานรากที่มั่นคงแข็งแรงไม่สั่นคลอน เราถึงจะเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน โดยไม่ได้เป็น “ผู้ที่มีรายได้น้อย” จริง ขอร้องนะครับอย่าเพิ่มภาระให้กับประเทศชาติ ให้เจ้าหน้าที่ หรือสร้างความขัดแย้งในสังคมต่างๆโดยไม่จำเป็นนะครับ ขอให้ทุกคน “ซื่อสัตย์” ต่อตนเอง เพราะว่าท่านเป็นคนที่มาแจ้งด้วยตัวเองนะครับ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ซื่อสัตย์ไว้ด้วย ให้ผู้นำชุมชน หมู่บ้านต่างๆ รับรองไว้ด้วยนะครับ ดูแลด้วย
สำหรับการแก้ไขระบบบริหารราชการ การทำความเข้าใจกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง 3 เรื่อง มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกออกไม่ได้ หากทุกคนเชื่อมั่นในกฎหมาย ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ให้เวลาในการทำงาน เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศ เราก็จะหลุดพ้น จากหล่ม หรือ กับดักต่างๆ ออกไปได้ ทั้งนี้ในระหว่างที่การแก้ปัญหาต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จ ยังไม่เกิดขึ้น หรือเริ่มต้น หรืออาจจะยังไม่ส่งผล “ทั้งระบบ” ปัญหาจะยังคงมีอยู่ แต่ก็จะค่อยๆ “ดีวัน ดีคืน” ต้องขอความร่วมมือ และขอให้อดทน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
สำหรับในกรณีที่สถานประกอบการ โรงแรม เกสเฮาส์ มีการ “ต่อเติมสร้างผิดแบบ” ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ ผมเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ หากทำให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดมาตรฐานให้ได้โดยเร็วแล้วก็อย่าทำผิดกันอีกต่อๆไปนะครับขอร้อง
สำหรับปัญหาการเมือง นักการเมืองที่ดีนั้น ผมชื่นชมนะครับ มีมากกว่าที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ที่ “ไม่ดี” ก็อาจจะด้วยที่เจตนา และไม่เจตนานะครับ สำหรับผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองในอนาคต ก็ต้องปรับปรุงตัวนะครับ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความโปร่งใส ปราศจากข้อสงสัย ในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน เราจะต้องเป็นนักการเมือง “มือสะอาด ใจบริสุทธิ์” มีความต้องการเข้ามารับผิดชอบ ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง มากกว่าความปรารถนาเข้ามาบริหารงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ อย่างเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ไม่ครบทุกเป้าหมาย แต่กลับโยนภาระต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ “ทั้งหมด” ของรัฐบาลในการบริหารประเทศให้กับข้าราชการประจำ โดยอาจจะอ้างว่าเป็น “งานฟังค์ชั่น” งานที่ทุกคนมีหน้าที่อยู่แล้วมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ผมก็กราบเรียนว่า แม้จะมีความสำคัญมากอย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่น้อยไปกว่า “งานด้านนโยบาย” ที่รัฐบาล ฝ่ายบริหาร ต้องติดตามนะครับ กำกับดูแลลักษณะธรรมาภิบาลการทำงานของหน่วยงาน ข้าราชการ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในขั้นตอน “การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ” นะครับ เราต้องควบคุมอย่างทั่วถึง รวมถึง “การลงโทษ” ข้าราชการที่ทุจริต และ “การให้ความดี ความชอบ” ข้าราชการที่น้ำดี ไม่ใช่เป็นการบริหาร ที่แบบ “อยู่ห่างๆ” ปล่อยให้เป็นเสรีการปฏิบัติของหน่วยงานจน “เกินไป” แล้วก็ผลักให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ ทำตามแผนงาน หากเราไม่กำกับดูแล ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในระดับนโยบาย หรือเพียงจะมา “ชี้นำ” ในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้น “ทุกรัฐบาล” จำเป็นต้องรับผิดชอบ ทั้งในงานฟังค์ชั่น และงานนโยบายรัฐบาล เพราะว่าเป็นการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐทั้ง 2 งาน รัฐบาลนี้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ทำอย่างนั้น หากปล่อยปละละเลย ให้ข้าราชการทำงานไป เหมือนระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติ “แยกขาด” จากกัน โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นนะครับ ไม่เป็นไปตามนโยบายไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องให้ข้าราชการรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้นะครับ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งฝ่ายบริหาร ในเรื่องของการกำกับดูแลที่บกพร่อง และก็ถือว่ามี “ความผิด” เช่นกัน มากบ้างน้อยบ้าง ก็ว่ากันไป
ทุกวันนี้ และ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลและ คสช. ก็พยายามจะทำให้ทุกอย่าง “เข้าที่ เข้าทาง” ในแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยรัฐบาล ข้าราชการ ควรจะอยู่ในจุดใดนะครับ บทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร จะดูแลประชาชน พัฒนาประเทศ รักษาสมดุลระบบนิเวศน์อย่างไรนั้น ทั้งหมดก็คือ “วงจรในการใช้อำนาจ” บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข เดินหน้าไปได้ มีการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในทุกกิจกรรม และมีการรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยปละละเลยจุดใดจุดหนึ่ง เพราะรัฐบาลนั้นเป็นผู้ใช้ “พระราชอำนาจ” ของพระมหากษัตริย์ ในการบริหารประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ ทำงาน ต่างพระเนตร พระกรรณ ด้วยการบริหารงานราชการ บริหารงบประมาณแผ่นดิน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคต ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องรักษาพระราชอำนาจ ให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ และทำเพื่อประชาชน เช่นที่พระมหากษัตริย์ ทุกพระองค์ ทรงทำเสมอมา
สำหรับในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลอยากให้ทุกคนช่วยกันทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเรานั้นมีหลากหลายอาชีพ หลายระดับรายได้ ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานประกอบการและเงินทุน หากเป็นประชาชน ก็เป็นการประกอบอาชีพอันสุจริตด้วยความสมัครใจ บางอย่างอาจจะไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก อาจใช้เพียงประสบการณ์ ความชำนาญ ความคุ้นเคย แต่วันนี้การทำงานลักษณะนั้น รายได้อาจไม่เพียงพอนะครับ หากไม่มีการปรับตัว ไม่มีการพัฒนาตนเอง ไปสู่การมีฝีมือ มีความรู้ เป็นคนรุ่นใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ ในส่วนของภาคธุรกิจ
ผู้ประกอบการ “ขนาดเล็ก” ก็ต้องพัฒนาตนเอง ในด้านความรู้ เพิ่มขีดความสามารถ พัฒนาสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจ “ขนาดกลาง” ก็จำเป็นต้องพัฒนา ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือ ให้ทันสมัยขึ้น โดยหาแหล่งเงินทุน ทั้งจากรัฐบาลสนับสนุน และจากแหล่งอื่นๆ ในส่วนของธุรกิจ “ขนาดใหญ่” ระดับประเทศ ข้ามชาติ ก็ต้องช่วยรัฐบาล ช่วยประชาชน ผ่านกลไก “ประชารัฐ” หรือกลไกที่เป็นความริเริ่มของตนเอง ในการสร้างความเชื่อมโยง จากภาคประชาชน ธุรกิจในประเทศไปใน “ห่วงโซ่” ของตนเองด้วย เพื่อจะยกระดับรายได้ เพิ่มมูลค่า ให้กับประชาชน
สำหรับสถานประกอบการ SMEs จะต้องมีรายได้มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น และมีการเสียภาษีที่ถูกต้องให้กับประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่งบประมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในส่วนของรัฐ สวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกทั้งประเทศไทย ยังคงต้องการงบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก ในการที่จะสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ อันได้แก่ การคมนาคมทั้งทางบก เรือ อากาศ นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นต้องสร้างเขตเศรษฐกิจระดับ มหภาค เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ทั่วประเทศ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกมหาศาล
ทั้งหมดนี้ ต้องการความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และทุกภาคส่วน สิ่งเหล่านี้ ก็จะเกิดเป็นผลสำเร็จ ในการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชนและสถานประกอบการระดับต่างๆนะครับ เศรษฐกิจเราจะเข้มแข็งเติบโต ทั้งจากภายในและภายนอก และจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกไม่มากนักนะครับ เพราะเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี พึ่งพาตนเองได้เข้มแข็ง ดังนั้น เราต้องกลับมามองที่ตัวเราเองนะครับ ว่าเราเข้าใจในประเด็นเหล่านี้หรือไม่ มากน้อยเพียงพออย่างไร ทั้งประชาชนทั่วไป เกษตรกร อาชีพอิสระ ข้าราชการ พ่อค้า และอื่นๆนะครับ ว่าทุกคนนั้น คือ “ห่วงโซ่” เศรษฐกิจที่สำคัญ ที่จะต้องยึดโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างแยกออกจากกันไม่ได้
เราคงต้องมองการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และแก้ปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้าง เพิ่มการลงทุน ยกระดับตนเอง ในการพัฒนาความรู้ มีการรองรับความเสี่ยง มีการพัฒนาฝีมือ รวมกลุ่มกันให้ได้ ปัจจุบันนั้นเทคโนโลยีและดิจิทัล มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจะปล่อยให้เทคโนโลยีดิจิทัล นำหน้าเราไปมากๆ เกินไปไม่ได้ หากเราใช้ความรู้สึกเดิมๆ ภูมิปัญญาแบบเดิมๆ ในการดำเนินชีวิตต่อไป เราจะอยู่ไม่ได้อีกต่อไปนะครับ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เราต้องรู้เท่าทัน ต้องมีการพัฒนาตัวเอง เราต้องพิจารณาว่า จะก้าวให้ทัน ก้าวไปพร้อมๆกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง ที่แวดล้อมเราอยู่ มีการพัฒนามีการเจริญเติบโตเหล่านี้ไปได้อย่างไร หากรายได้เรายังไม่พอ มีหนี้สิน และยังคงคิดแบบเดิมๆไม่เรียนรู้ เราจะอยู่อย่างลำบากนะครับ รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณ ที่ควรจะได้จากความเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ของประเทศ มาช่วยเหลือ มาจุนเจือ ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อีกต่อไป ผมขอฝากข้อคิดเหล่านี้ด้วยนะครับ ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ใน “ศาสตร์พระราชา” แล้วทั้งสิ้น ขอให้ทุกคนช่วยตัวเอง และช่วยประเทศชาติไปด้วย รัฐบาลพร้อมที่จะแสวงหาวิธีการ สนับสนุนให้ทุกอย่าง เดินหน้าไปให้ได้ โดยการใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า ไม่ยั่งยืน เหมือนที่ผ่านมานะครับ
พี่น้องประชาชนครับ สุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกคน และเยาวชน ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” โดยเฉพาะในเรื่องของคุณธรรม-จริยธรรมมาปฏิบัติ ขอขอบคุณ กอ.รมน. ที่ได้ร่วมกับเสถียรธรรมสถาน ในการปลูกฝังลูกหลานไทย โดยนำเด็กๆ ทุกชาติ ทุกศาสนา ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย มาร่วมกันร้องเพลง “พระราชาในนิทาน” ที่แสดงถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และปวงชนชาวไทย “ทุกคน” ซึ่งแตกต่างจากการดำรงตนของพระราชา ในเทพนิยาย ที่เด็กๆคุ้นเคย พระองค์ทรงนั่งอยู่บนพื้นดินร่วมทุกข์กับประชาชน ทรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จไปทุกหนแห่ง เพื่อดูแลพสกนิกรของพระองค์ เราทุกคนควรช่วยกัน “ปลูกต้นไม้ในใจคน” บ่มเพาะสิ่งดีๆ เหล่านี้ลงในจิตใจเด็กเยาวชนไทยทุกคน เพราะจะเป็นพลังสืบสานพระปณิธานของพระองค์ท่าน ให้ดำรงอยู่ต่อไปคู่แผ่นดินไทย ตราบนานเท่านาน
อีกตัวอย่างของการ “ทำดีเพื่อพ่อ” ได้แก่ “โครงการก้าวคนละก้าว” ซึ่งนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ในการวิ่งเพื่อระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ มาช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์นะครับ ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ยังขาดแคลน โดยได้มีการออกวิ่ง จากกรุงเทพฯ ไป อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม400 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง วันที่ 10 ธันวาคมนะครับ ก็อาจจะมีการติดขัดการจราจรอยู่บ้าง ก็ถือว่าช่วยกันแล้วกันนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นการอุทิศแรงกาย แรงใจ ทำงานเพื่อสังคมแล้ว ยังเป็นการออกกำลัง ให้เป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนและประชาชน เป็นความคิดที่สร้างสรรค์นะครับ ของผู้ที่มีชื่อเสียงอยู่ในสังคม ที่สำคัญก็คือ เป็นการทำการกุศลที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด ใช้แรงกาย แรงใจ แต่ได้รับผลตอบรับมากที่สุดนะครับ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทุกคนด้วยนะครับ และต่อๆไป
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
p.p1 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000}
p.p2 {margin: 0.0px 0.0px 0.0px 0.0px; font: 11.0px Helvetica; -webkit-text-stroke: #000000; min-height: 13.0px}
span.s1 {font-kerning: none}