คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อบีทีเอสสู่ทศวรรษใหม่แห่งการลงทุน

คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อบีทีเอสสู่ทศวรรษใหม่แห่งการลงทุน

แม้เขาจะไม่ได้บอกเล่าถึงโครงการลงทุนใหม่ ๆ แต่การปรากฏตัวเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้ว่าเขากำลังวางแผนโครงการบางอย่าง และยี่ห้อ “คีรี กาญจนพาสน์” การันตีว่าถ้าเขาทำ…ต้องใหญ่จริง!!

ย้อนกลับไปในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันเซ็นต์สัญญาซื้อรถไฟฟ้า 46 ขบวน 184 ตู้ มูลค่ารวมประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ระหว่างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของ คีรี กาญจนพาสน์ กับ กลุ่มผู้ผลิตคือบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด และ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีดังกล่าว

จากคำพูดของ “ดร.สมคิด” ที่กล่าวในวันนั้นว่า “บีทีเอสถือเป็นบริษัทเอกชนที่กล้าหาญในการลงทุนและมองไปในอนาคต ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่ดี” ก็ยิ่งทำให้สื่อมวลชนจับตามองว่า นอกจากการสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในเส้นทางรถไฟฟ้าสายหมอชิต-แบริ่งและสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารสูงสุดเกือบ 9 แสนคนต่อวัน และรองรับเส้นทางส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตแล้ว เขาวางแผนจะทำอะไรต่อ

ประกอบกับรัฐบาลได้อนุมัติลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร วงเงิน 82,907 ล้านบาท สายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,490 ล้านบาท สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,810 ล้านบาท กลายเป็นคำถามจากสื่อมวลชนว่า คีรี กาญจนพาสน์ในฐานะผู้สร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกของเมืองไทยสนใจหรือเปล่า เขาตอบคำถามสั้น ๆว่าสนใจเข้าการร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆของ รฟม. รวมถึงโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม

และเขาได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในงานการประชุม EIC Conference 2016: Gearing up for Thailand’s future with infrastructure investment ว่าดีใจที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น และในส่วนของเอกชนเองก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่าปล่อยให้รัฐทำเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องดูความชัดเจนของร่างทีโออาร์เพื่อประเมินความเสี่ยงเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจเกิดการบานปลายของงบประมาณ ยกตัวอย่างโครงการบีทีเอสที่วงเงินลงทุนเพิ่มจาก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บีทีเอสเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาเข้าร่วมทุกโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจบรรเทาความเดือดร้อนด้านการจราจร สร้างความสุขของประชาชน ซึ่งเราไม่มีปัญหาด้านการเงิน เพียงแต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

สอดรับกับคำพูดของ “ดร.สมคิด”ที่กล่าวว่า “ถ้าเอกชนไม่ลงทุน GDP จะเติบโตได้อย่างไร การใช้จ่ายรัฐบาลทำได้บางส่วนแต่เอกชนจะเป็นนักรบสำคัญ ซึ่งบีทีเอสถือเป็นตัวอย่างของนักธุรกิจไทย เอกชนไทยควรตัดสินใจลงทุนในประเทศ ไม่ใช่หนีไปลงทุนประเทศอื่น เพราะวันนี้เศรษฐกิจน่าลงทุนที่สุด” 

คีรี กาญจนพาสน์ เป็นบุตรชายคนที่ 7 ของมงคลกับศิริวรรณ กาญจนพาสน์ ซึ่งมีบุตรธิดาทั้งสิ้น 11 คน หลังเรียนจบไฮสคูลที่ รร. พุ่ยจิง เกาลูน ประเทศฮ่องกง เขาตัดสินใจออกมาช่วยกิจการของครอบครัวโดยเป็นคนงานในโรงงาน ด้วยความเป็นคนใจถึง กล้าได้กล้าเสีย จึงกระโจนเข้าสู่วงการธุรกิจการค้าของฮ่องกงตั้งแต่เยาว์วัย จนมีชื่อเสียงโด่งดังในดินแดนมังกรว่า “หว่อง จง ซัน” ปี 2533 ได้เดินทางกลับมาทำโครงการขนาดยักษ์ในเมืองไทยคือโครงการ “ธนาซิตี้” ที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้าน และโครงการที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีคือการบุกเบิกสร้างระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้าสายแรกของประเทศไทย หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ในระยะหลัง คีรี กาญจนพาสน์ ได้ทำโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสร้าง “ศูนย์ไตเทียมฟ้าสั่ง” (FAH SUNG HEMODIALY-SIS CENTER) เป็นต้น