หากย้อนอดีตวันวานจะมีสักกี่คนรู้ว่านี่คือ
สถานที่เก็บเกลือ เพื่อส่งขายให้กับชาวกัมพูชานำไปใช้ทำปลาเค็ม
ซึ่งต่อมาความต้องการเกลือนั้นลดน้อยลง ประกอบกับเกิดภัยสู้รบภายในประเทศกัมพูชา หรือ
“สงครามล้างเผ่าพันธุ์” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 – 2536 ส่งผลทำให้ชาวกัมพูชาประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวาง
ทำให้แนวเขตชายแดนที่ติดต่อกับไทยสมัยนั้นถือเป็นพื้นที่อันตรายและมีปัญหากระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2533 ทางรัฐบาลไทยขณะนั้น
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน นายกรัฐมนตรีจึงได้มีนโยบายเปลี่ยน “สนามรบเป็นสนามการค้า”
โดยพิจารณาเปิดจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี
(ในสมัยนั้น) เปิดเป็นตลาดโรงเกลือขึ้นเมื่อวันที่
15มิ.ย. พศ.2534
ตลาดโรงเกลือ
ณ วันนั้น ไม่ใช่เพียงตลาดการค้าแนวชายแดนเท่านั้น หากแต่เป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่สำคัญในแนวตะเข็บชายแดน จากจุดประสงค์เพื่อการค้าขาย และไปมาหาสู่กันของคน
สองประเทศ สู่การเข้ามาของกลุ่มอาชีพหลากหลายในตลาดโรงเกลือ อาทิ
กลุ่มหญิงขายบริการ ธุรกิจค้าผู้หญิงข้ามชาติ ยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง ขอทาน และขนสินค้าหนีภาษีแบบกองทัพมด
ปัญหาเหล่านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐในสมัยนั้นพยายามแก้ไขแต่ทำไม่ได้ทั้งหมด กระทั่งสุดท้ายสถานที่แห่งนี้ถูกปล่อยปละละเลยพร้อมกับปัญหา
หลังสงครามสงบลง
เรื่องของการค้ามนุษย์ไม่ได้จางหายไป แต่ถูกกระแสธุรกิจขายสินค้ามือสองเบียดบังไว้
โดยระยะแรกเป็นสินค้าประเภทข้าวของเครื่องใช้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศบริจาคเพื่อช่วยเหลือชาวกัมพูชา
นายทรงยศ
เทียนทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงการค้าภายในตลาดโรงเกลือ
ในอดีตว่า ตลาดโรงเกลือเป็นตลาดที่มีการจำหน่ายสินค้ามือสองเป็นส่วนใหญ่และเป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทย
ต่อมามีการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นเกินกว่าครึ่งของร้านค้าในตลาด
ซึ่งปัญหานี้เองที่ทำให้เอกลักษณ์ของตลาดโรงเกลือนั้นสูญเสียความมีเสน่ห์ของตลาดสินค้ามือสองไป
ขณะเดียวกันทางแก้ไขปัญหา
ในมุมมองของ นายกอบจ.สระแก้ว คือ “ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบจะต้องร่วมมือกัน
ทั้งการป้องกันและปรามปราบ การรณรงค์ห้ามซื้อขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โรงเกลือถือเป็นพื้นที่ปลายทาง
หากจะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ควรเริ่มต้นที่ต้นทาง ต้องรู้แหล่งที่มาที่ไปของสินค้าเหล่านี้
เมื่อไม่มีสินค้าเหล่านี้เข้ามาขาย ปัญหาก็จะหมดไป ทุกวันนี้ตลาดเงียบเหงา
เพราะมีการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
ต่างจากสมัยก่อนที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของตลาดเป็นสินค้ามือสอง ตลาดคึกคัก
ร้านค้าก็ไม่จำเป็นต้องปิดตัวลง”
เรื่องราวตลาดโรงเกลือถ้าจะว่าไปแล้วเริ่มต้นด้วยแนวนโยบายที่ดี
แต่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่แหล่งผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย มาโดยตลอด
ทั้งจากการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จากนี้ต่อไปจึงเกิดคำถามว่า
ถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะเข้ามาปรับเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างแท้จริง
ดีกว่าจะสร้างให้กับคนเฉพาะกลุ่ม