1..2.. 3…นับถอยหลังเข้าสู่ AEC

1..2.. 3…นับถอยหลังเข้าสู่ AEC


                        เค้าท์ดาวน์เข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือ AEC ที่เริ่มดีเดย์วันที่ 31 ธันวาคมนี้ ประเทศไทยหลายภาคส่วนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ รัฐบาลเอง ก็มีการดำเนินการอย่างบูรณาการให้สอดคล้องตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่าเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงผลักดันการส่งออกด้วยการเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยจะมีการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกแบบเชิงรุก มุ่งเน้นการเจาะตลาดใหม่และช่องทางการค้าทางออนไลน์ร่วมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
 
เรื่องต่อมาจะการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 ปีตั้งแต่ปี 2558 – 2564  มุ่งสู่แนวทางจัดตั้ง คลัสเตอร์ ซุปเปอร์คลัสเตอร์ ใน 9 จังหวัดโดยเน้นการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งเสริมด้านนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และเน้นการนำวัตถุดิบในแต่ละพื้นที่ มาแปรรูป เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับล่าง อีกประการหนึ่งคือการเตรียมความพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทั้งเรื่องปัญหาที่ดินเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติ ให้มาลงทุนในไทย  รวมทั้ง ส่งเสริมการลงทุนในลักษณะ ไทย + กลุ่มประเทศอาเซียน
อย่างไรก็ตามมีการเตรียมแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องของการขาดแรงงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการท่องเที่ยว หากภาคแรงงานไม่เพียงพอ ก็ไม่ตอบสนองต่อการขยายตัวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน จัดทำข้อมูลแรงงานพื้นฐาน ในระบบ เช่น Smart Job Center เพื่อให้ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ใช้ในการบริหารงานร่วมกันเรียกว่าบูรณาการ นอกจากนี้มีการจัดตั้ง “ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” (ศปพ.) ภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการต่าง ๆ ในการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงขบวนการผลิตหรือขั้นตอนการทำงาน
 
ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมทางด้านบุคคลากรในด้านต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค ช่างฝีมือ บุคคลากรทางการแพทย์ การศึกษา รวมทั้งข้าราชการรุ่นใหม่ คงต้องไม่ใช่เฉพาะการเพิ่มจำนวนเท่านั้น ต้องสามารถให้การบริการ ปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นสากล ได้รับการยอมรับ มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน รวมทั้งประเทศสมาชิก  ตลอดจนบุคลากรต้องสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ต้องมีทักษะทั่วไปด้านภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ
 
นายกรัฐมนตรีพูดทิ้งท้ายเรื่องการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่าไทยมีปัญหาในเรื่องของเวลา และการไม่เคารพกฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ กฎหมายก็จะคลายความศักดิ์สิทธิ์ลง ซึ่งกำลังปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจังจึงข้อร้องไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม อย่าฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะมันสร้างความเดือดร้อนให้กับคนหมู่มาก และ
“ถ้าทุกคนทำตามกรอบที่เราออกกฎหมายไปแล้ว ตามกติกาสากล แล้วก็จะกล่าวอ้างว่าไม่รู้อีก พอไม่รู้ขึ้นมาปั๊บ มีเรื่องทันทีทั้งๆ ที่หลายคนก็ เพราะไม่รู้ แต่มีเจตนาบริสุทธิ์ ก็เป็นเครื่องมือของเขาเคลื่อนไหวไปโน่นไปนี่ ก็เป็นปัญหาหมด ก่อนอื่นท่านต้องดูกฎหมายก่อนว่า ท่านจะทำนี่จะผิดกฎหมายหรือเปล่า ถ้าผิดแล้ว การแสดงความคิดเห็นของท่าน ถ้าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางประชาธิปไตย มันใช่เวลาหรือยัง แล้วการกระทำของท่าน มีผลกระทบกับการจราจร ผลกระทบกับคนอื่น ที่เขาไม่เห็นด้วยอีกไหม เหล่านี้ท่านต้อง คิดร่วมกัน ไม่งันแก้ไขอะไรไม่ได้ วันนี้ผมอยากขอร้องนักการเมืองข้าราชการ ประชาชนทุกคน ทุกหมู่เหล่า ภาคธุรกิจเอกชน ต้องร่วมมือทั้งสิ้น เข้าใจตรงนี้ ทำไงจะร่วมมือ จับมือกันได้ในลักษณะการเป็น ประชารัฐ”นายกฯ กล่าวปิดท้าย