เปิด 2 งานวิจัยยกระดับอุตสาหกรรมไผ่ไทยด้วยแนวคิด Circular Economy

เปิด 2 งานวิจัยยกระดับอุตสาหกรรมไผ่ไทยด้วยแนวคิด Circular Economy

“ไผ่” ทรัพยากรล้ำค่าที่รอการพัฒนา เปิด 2 งานวิจัยยกระดับอุตสาหกรรมไผ่ไทย ภายใต้แนวคิด Circular Economy ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร

 

 

“ไผ่” นับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ทุกส่วนของไผ่ตั้งแต่ราก ลำต้น ไปจนถึงยอด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะใช้หน่อไผ่ สำหรับบริโภคเป็นอาหาร ลำไผ่ใช้ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ ใบไผ่ใช้ห่อขนม รากไผ่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน หรือแม้กระทั่งใช้เป็นยารักษาโรค 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามผลักดันไผ่ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดไม่ใช้งบประมาณรัฐบาล แต่เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่าง รัฐบาล เอกชน และประชาชน (PPP model) โดยรัฐบาลสนับสนุนด้านนโยบายส่งเสริมการปลูกไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจกลุ่มไม้ยืนต้น ซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนกิจการแปรรูปไผ่ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม bio-refinery ในระดับชุมชน ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร     

โดยโครงการระยะเริ่มแรกตั้งเป้าหมาย ไว้ที่ 10,000 ไร่ ใน 10 ตำบล จะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรตำบลละอย่างน้อย 80 ล้านบาท จากนั้นจะขยายผลไปทั่วประเทศ โดยเชิญชวนภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการเตรียมแหล่งเงินทุนผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ Green Investment Trust ซึ่งมีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายการลงทุนเพื่อพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการระดมทุนที่มีทรัพย์สินเป็นพื้นที่สำหรับการปลูกป่าโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

 

 

 

เปิดงานวิจัยเพิ่มมูลค่าไผ่

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อไม่นานผ่านมาเพื่อติดตามความคืบหน้า 2 โครงการวิจัยภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยได้แก่ โครงการบรรจุภัณฑ์ปลอดเคมีจากเยื่อไผ่ (ปีที่2) และโครงการการพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตถ่านแบบต่อเนื่องและการผลิตถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงจากเทคนิคการกระตุ้นด้วยไอน้ำ

 

 

ไผ่ไทยสู่บรรจุภัณฑ์ปลอดเคมี

สำหรับงานวิจัยแรก เป็นโครงการบรรจุภัณฑ์ปลอดเคมีจากเยื่อไผ่ (ปีที่2) โดยมี ผศ.ดร.พิชิต สมบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับบริษัท พรีไซซ สมาร์ท ไลฟ์ จำกัด บริษัทผู้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย และดำเนินธุรกิจ Bioeconomy ผ่านการกระจายรายได้สู่ชุมชน ควบคู่กับการสร้างความสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม 

ผศ.ดร.พิชิต ระบุว่า จากการศึกษา พบว่าผลผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องตามแนวทางของบริษัทเพื่อสร้างความยั่งยืน คือ ไผ่ ปัจจุบันบริษัทพรีไซซ สมาร์ท ไลฟ์ ได้เริ่มปลูกไผ่ในที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ แบ่งเป็นแปลงเก็บรวบรวมพันธุ์ไผ่กว่า 500 สายพันธุ์ และหนึ่งผลิตภัณฑ์หลักของไผ่ คือ การผลิตบรรจุภัณฑ์ 

ในปัจจุบันเยื่อกระดาษที่ใช้ในประเทศผลิตจากกระบวนการทางเคมี ซึ่งจะมีปริมาณสารเคมีตกค้างในเส้นใย และกระบวนการผลิตเยื่อทางเคมีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำมาซึ่งงานวิจัยโครงการนี้ ที่ประกอบด้วยการเลือกและรับรองชนิดไผ่จากการปลูกของบริษัทร่วมวิจัยที่จะนำมาผลิตเยื่อเชิงกลในเชิงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการสร้างโรงงานผลิตต้นแบบ (Pilot scale) 

 

 

 

 

โดยเป็นการสร้างต้นแบบส่วนการผลิต อย่างการเตรียม คัดแยก การแปรรูป และการเก็บรักษาวัตถุดิบเบื้องต้นให้มีขนาดความเหมาะสมในกระบวนการผลิต เพื่อนำไปใช้กับเครื่องต้นแบบการผลิตเยื่อเชิงกลแบบภายใต้แรงดันไอน้ำสูง (Thermo-mechanical pulping) มีการออกแบบเครื่องผลิตปรับแต่งเส้นใยให้มีการแตกของผนังเซลล์ให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อไผ่ขึ้นรูปเพื่อนำไปทดลองใช้จริงกับผู้บริโภค และทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานและความปลอดภัย 

 

จากเศษเหลือไม้ไผ่ สู่ “ถ่านกัมมันต์คุณภาพสูง” 

สำหรับโครงการการพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตถ่านแบบต่อเนื่องและการผลิตถ่านกัมมันต์คุณภาพสูงจากเทคนิคการกระตุ้นด้วยไอน้ำ จากเศษเหลือไม้ไผ่ (ปีที่2) โดยมีดร.กิติพงศ์ ตั้งกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับบริษัท พรีไซซ สมาร์ท ไลฟ์ จำกัด บริษัทร่วมทุนวิจัยศึกษาและพัฒนาเครื่องจักรที่ทันสมัยพร้อมทั้งอำนวยการสร้างอาคารต้นแบบ สำหรับทดสอบระบบให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยโครงการนี้มุ่งเน้นการจัดการวัตถุดิบไผ่ครบวงจรด้านกระบวนการเผาถ่านแบบต่อเนื่องจากเทคนิคการกระตุ้นด้วยไอน้ำจาก “เศษเหลือไม้ไผ่” เช่น ข้อไผ่ ลำไผ่ โดยใช้ไอดงหรือไอน้ำร้อนยวดยิ่ง (Superheated Steam) เป็นตัวกระตุ้นที่อุณหภูมิสูง ทําให้ถ่านไม้ไผ่ที่ได้จากกระบวนการเผาถ่าน (Carbonization) มีความสามารถในการดูดซับสูงขึ้นจากการเพิ่มพื้นที่ผิว (surface area) และสกัดสิ่งเจือปนออกจากรูพรุนของถ่านเกิดเป็น “ถ่านกัมมันต์คุณภาพสูง (activated charcoal หรือ activated carbon) ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.900-2547) เพื่อที่จะนําคุณสมบัติดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เวชสำอางค์ และอื่นๆต่อไป

 

 

 

 

โรงงานต้นแบบระดับขยายขนาด (Pilot Plant) ในทั้ง 2 โครงการนี้ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญ ในการมาเติมเต็มต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตรแบบ Bio-Circular-Green Economy ครบวงจรที่เป็นรูปธรรม โดยใช้นวัตกรรมจากผลงานวิจัยภายในประเทศ นํามาถ่ายทอดองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนา ทั้งด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรเฉพาะทาง สร้างโอกาสและรายได้ให้เกิดการกระจายโอกาส องค์ความรู้ และรายได้สู่ชุมชนต่อไปในอนาคต