สรุปความคืบหน้า “แผ่นดินไหวไทย” รวมเสียหาย 18 จังหวัด เสียชีวิต 22 สูญหาย 72 เกิดอาฟเตอร์ช็อก 266 ครั้ง

สรุปความคืบหน้า “แผ่นดินไหวไทย” รวมเสียหาย 18 จังหวัด เสียชีวิต 22 สูญหาย 72 เกิดอาฟเตอร์ช็อก 266 ครั้ง

อัพเดตแผ่นดินไหวไทยล่าสุด พบผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย บาดเจ็บ 34 ราย และสูญหาย 72 ราย กรมอุตุฯ เผยเกิดอาฟเตอร์ช็อกรวม 266 ครั้ง มีขนาด 3.0-3.9 มากที่สุด 120 ครั้ง ล่าสุดเมียนมามีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก 38 ครั้ง ขณะที่ในไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตามมาช่วง 1-2 เมษายน 68 รวม 9 ครั้ง

 

Cr. ภาพ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

 

วันที่ 2 เมษายน 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อก(Aftershocks)แล้ว รวมทั้งสิ้น 266 เหตุการณ์(ครั้ง) โดยมีขนาดของแผ่นดินไหว หรืออาฟเตอร์ช็อกขนาด 3.0-3.9 มากที่สุด จำนวน 118 ครั้ง รองลงมาเป็นขนาด 1.0-2.9 รวม 80 ครั้ง และขนาด 4.0-4.9 รวม 56 ครั้ง ทั้งนี้มีขนาดรุนแรงมากที่สุด 7.0 ขึ้นไป 1 ครั้ง (อัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)

ขนาดแผ่นดินไหว/ครั้ง

ขนาด 1.0-2.9 จำนวน 80 ครั้ง

ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 120 ครั้ง

ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 56 ครั้ง

ขนาด 5.0-5.9 จำนวน 9 ครั้ง

ขนาด 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง

 

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวไทย (ช่วงวันที่ 1 – 2 เม.ย. 68) กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย จำนวน 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา จำนวน 38 ครั้ง และประเทศลาว 1 ครั้ง

ล่าสุดของไทย เมื่อเวลา 08.17 น. วันที่ 2 เมษายน 2568 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 1.4 ที่ ต.บ้านโป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยก่อนหน้าเมื่อเวลา 07.47 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.2 ที่ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

 

ขนาดแผ่นดินไหวในไทย

1 เมษายน 2568 เวลา 23.26 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.8 ที่ ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ. แม่ฮ่องสอน

2 เมษายน 2568 เวลา 01.37 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.3 ต. ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

2 เมษายน 2568 เวลา 02.56 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.5 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

2 เมษายน 2568 เวลา 07.47 น. แผ่นดินไหวขนาด 2.2 ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

2 เมษายน 2568 เวลา 08.17 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.4 ต.บ้านโป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

 

Cr. ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร

 

พบผู้เสียชีวิตแล้ว 22 ราย สูญหายอีก 72 ราย

 

สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิต ศูนย์เอราวัณกทม. รายงานสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว รวม  12 สถานที่ มีผู้เสียชีวิตรวม 22 ราย บาดเจ็บ 34 ราย และสูญหาย 72 ราย (ข้อมูล ณ เวลา 08.00 น. วันที่ 2 เม.ย.)

  1. สถานที่พบผู้บาดเจ็บมากที่สุดคืออาคาร สตง. 19 ราย เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 14 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย
  2. อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ บาดเจ็บ 3 ราย
  3. แยกบางโพ เขตบางซื่อ บาดเจ็บ 4 ราย และเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย
  4. อาคารทิปโก้ บาดเจ็บ 2 ราย
  5. เครนดินแดง บาดเจ็บ 4 ราย
  6. ตึกไซมิส รามอินทรา 64 เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย
  7. คอนโดเดอะเบส พระราม 9 บาดเจ็บ 1 ราย และเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย
  8. อาคารเมโทรโพลิส สุขุมวิท 39 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย
  9. คอนโดวิทยุ คอมเพล็กซ์ เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย
  10. คอนโดไลฟ์วัน เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย
  11. ไซต์งานก่อสร้างพระราม เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 ราย
  12. ทางด่วนบูรพาวิถี บาดเจ็บ 1 ราย

หมายเหตุ: ตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอาจมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือ

 

 

รวมเสียหาย 18 จังหวัด กทม. รุนแรงสุด

 

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ชี้แจงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายพื้นที่ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน รวม 63 จังหวัด รวมถึง กรุงเทพมหานคร

 

จากกรณีเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 326 กม. แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่รวม 63 จังหวัด และมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และจังหวัดชัยนาท รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด

 

ในส่วนของความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย จากรายงานเพิ่มเติม พบว่ามีบ้านเรือนเสียหาย 591 หลัง วัด 55 แห่ง โรงพยาบาล 86 แห่ง อาคาร 9 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง และสถานที่ราชการ 25 แห่ง

 


 

ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

 

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้เร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง โดยสำรวจความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย สิ่งสาธารณประโยชน์ และโครงสร้างพื้นฐาน และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และ จังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครซึ่งมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่

 

 

ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ อาคารสตง. ถล่ม

 

สำหรับในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถล่ม ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร หน่วยทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งให้การช่วยเหลือผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดพื้นที่ค้นหาและกู้ภัย (Zoning) อย่างเป็นระบบและชัดเจน พื้นที่บางส่วนสามารถนำเครื่องจักรใหญ่เข้าเปิดทางเพื่อให้ทีมค้นหาและกู้ภัยเข้าดำเนินการได้

 

 

นอกจากนี้ ยังมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาและกู้ภัยจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) ไปสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวม 77 นาย พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี และเขต 3 ปราจีนบุรี เข้าร่วมปฏิบัติการ พร้อมทั้งสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั่วประเทศเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 355 รายการ ให้พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

 

 

อ้างอิง

https://www.prachachat.net/general/news-1784810

https://www.thairath.co.th/news/local/2850228

https://www.thaipbs.or.th/news/content/350831

https://www.hfocus.org/content/2025/04/33642

 

บทความอื่น ที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก “Xaver™ 400” เรดาร์อัจฉริยะ จากอิสราเอลถึงไทย มองทะลุซากปรักหักพังได้ ช่วยชีวิตเหยื่อแผ่นดินไหว