อัปเดต! เหตุแผ่นดินไหวในไทย ล่าสุด พบผู้เสียชีวิต 18 ราย สูญหาย 78 ราย – เมียนมาตายพุ่ง 1,700 ราย อุตุฯ เผยเกิดอาฟเตอร์ช็อก 207 ครั้ง

อัปเดต! เหตุแผ่นดินไหวในไทย ล่าสุด พบผู้เสียชีวิต 18 ราย สูญหาย 78 ราย – เมียนมาตายพุ่ง 1,700 ราย อุตุฯ เผยเกิดอาฟเตอร์ช็อก 207 ครั้ง

สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวในไทย ล่าสุด พบผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย บาดเจ็บ 33 ราย ยังสูญหายอีก 78 รายขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวในเมียนมาเพิ่มสูงกว่า 1,700 คน เร่งระดมทุนฉุกเฉินกว่า 3,390 ล้านบาท บรรเทาทุกข์ชาวเมียนมา ด้านกรมอุตุฯ ประกาศเกิดแผ่นดินไหวในไทยล่าสุด พบที่แม่ฮ่องสอน ขนาด 2.9  สรุปอาฟเตอร์ช็อกล่าสุด เผยมี “อาฟเตอร์ช็อก” Aftershock แล้ว 207 ครั้ง แรงสุดขนาด 7.0

 

           Cr. ภาพ : แนวหน้า

 

แผ่นดินไหวในไทย พบผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย สูญหาย 78 ราย

 

รศ.ทวิดา กมลเวชช และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหวในไทย พื้นที่กรุงเทพฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2568 เวลา 16.30 น. พบผู้เสียชีวิตแล้ว 18 ราย บาดเจ็บ 33 ราย และยังสูญหายอีก 78 ราย ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายยังคงเร่งดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างเต็มกำลัง

 

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่วันที่ 2 ของการค้นหา ซึ่งเป็นช่วง 48 ชั่วโมงแรกที่มีโอกาสพบผู้รอดชีวิต ล่าสุดมีการตรวจพบสัญญาณชีพบริเวณโซน A ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งปฏิบัติการค้นหาอย่างเต็มที่ โดยมีความร่วมมือจากทีมกู้ภัยนานาชาติที่นำเครื่องมือทันสมัยเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจ ซึ่งส่งผลให้ต้องปรับแผนการทำงานในพื้นที่บ้าง

 

ในส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ กรุงเทพมหานครยืนยันว่า จะดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 โดยครอบคลุมทั้งค่าชดเชยเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ประกอบอาชีพ ค่ารักษาพยาบาล เงินปลอบขวัญ และค่าจัดการศพสำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงค่าซ่อมแซมบ้านพักอาศัยที่ได้รับความเสียหาย โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขตภายใน 30 วัน และจะมีการประกาศหลักเกณฑ์โดยละเอียดเพิ่มเติม

 

Cr.ภาพ : httpswww.france24.com

 

ส่วนการตรวจสอบอาคาร ขณะนี้มีประชาชนแจ้งเรื่องความปลอดภัยเข้ามาผ่านระบบ Traffy Fondue แล้วกว่า 11,675 รายการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการประเมินแล้ว 315 อาคาร และในวันนี้จะส่งทีมวิศวกรอาสาลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติมอีกกว่า 100 อาคาร โดยแบ่งออกเป็น 20 ทีม สำหรับอาคารขนาดใหญ่ที่ตรวจพบความเสียหายและมีผู้อยู่อาศัยต้องการความช่วยเหลือมี 2 แห่ง ได้แก่ อาคารชุดในเขตจตุจักร ซึ่งมีผู้พักอาศัยประมาณ 600 คน โดยมีผู้แจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ 112 ราย และอาคารชุดในเขตพระโขนง ซึ่งมีผู้อยู่อาศัย 395 คน และมีผู้ต้องการความช่วยเหลือ 25 ราย ขณะนี้สำนักงานเขตได้เร่งจัดการอำนวยความสะดวกด้านที่พักให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดทำป้ายระบุตัวตนของผู้ประสบภัยและญาติให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถเข้า-ออกพื้นที่พักพิงได้อย่างปลอดภัยและเป็นระเบียบ

 

 

     Cr.ภาพ : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

 

อุตุฯ เผยเกิดอาฟเตอร์ช็อก 207 ครั้ง

 

ทั้งนี้ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตข้อมูลผลกระทบ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย บริเวณประเทศเมียนมาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ 31 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น. พบว่ามีอาฟเตอร์ช็อก Aftershock แล้วกว่า 207 ครั้ง

ทั้งนี้กรมอุตุฯได้รวบรวมสรุปเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและใกล้เคียง ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม เวลา 06.00 น. ถึง 31 มีนาคม 2568 เวลา 06.00 น. พบว่า ในประเทศมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว 21 ครั้ง และ ใกล้เคียงประเทศไทยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว 22 ครั้ง

 

ข้อมูลจาก กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว รายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เมื่อเวลา 01.01 น. (วันที่ 31 มี.ค.68) โดยจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ขนาดแผ่นดินไหว 2.9 ลึก 1 กิโลเมตร ส่วนสาเหตุเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ หลายพื้นที่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน รับรู้ถึงแรงสั่นไหว

 

   Cr.ภาพ : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

 

ขณะที่แผ่นดินไหวที่เมียนมาล่าสุด ยังคงมีต่อเนื่อง โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมาเวลา 06.55 น.เกิดเหตุแผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 4.6 ลึก 15 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 316 กม.

ทั้งนี้ เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 7.0 ลึก 10 กิโลเมตร ที่ประเทศตองกา โดยจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวห่างจากเมือง Pangai ประเทศตองกา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 79 กม. มีการประกาศแจ้งเตือนสึนามิ และยกเลิกในเวลาต่อมา เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้ แผ่นดินไหวดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาอัพเดตสถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด และสรุป Aftershocks แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 อัปเดตตามเวลา 07.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2568 ตามเวลาในประเทศไทย ว่าเกิดเหตุอาฟเตอร์ช็อกรวมทั้งสิ้น 207 ครั้ง ดังนี้

ขนาดแผ่นดินไหว

1.0-2.9 รวม 54 ครั้ง

3.0-3.9 รวม 91 ครั้ง

4.0-4.9 รวม 47 ครั้ง

5.0-5.9 รวม 7 ครั้ง

6.0-6.9 รวม 0 ครั้ง

7.0 ขึ้นไป 1 ครั้ง

 

   Cr.ภาพ : Reddit

 

เมียนมา ตายพุ่ง 1,700 ราย

 

ขณะที่ วันนี้ (31 มี.ค.68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ความรุนแรงของแผ่นดินไหวส่งผลให้บ้านเมืองในหลายพื้นที่ของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในกรุงเนปยีดอ เมืองมัณฑะเลย์ ภูมิภาคซะไกง์ พะโค มาเกว รวมถึงรัฐฉาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภัยพิบัติครั้งนี้

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวครั้งนี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,700 คนแล้ว บาดเจ็บกว่า 3,400 คนและยังมีผู้สูญหายอีกราว 300 คน

 

    Cr.ภาพ : CNN

 

ขณะเดียวกันยังมีแผ่นดินไหวซ้ำเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมืองมัณฑะเลย์ต่างวิ่งหนีตายออกมา ซึ่งขณะนั้นกำลังปฏิบัติภารกิจค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคารจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงก่อนหน้านี้ โดยสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ รายงานว่า แผ่นดินไหวซ้ำดังกล่าวมีขนาด 5.1 และเกิดห่างออกจากเมืองดังกล่าวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 28 กิโลเมตร ส่งผลให้ภารกิจกู้ภัยต้องหยุดชะงักชั่วคราว

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังเดินหน้าค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจติดอยู่ใต้ซากความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ชาวเมืองบางส่วนในภูมิภาคซะไกง์ ระบุว่าขณะนี้ร่างผู้เสียชีวิตถูกกู้ออกมาได้มากกว่าผู้รอดชีวิตและทุกครั้งที่ลมพัดแรงจะได้กลิ่นเหม็นของศพ ส่วนประชาชนในกรุงเนปยีดอที่ได้รับบาดเจ็บต้องนอนรอและรับการรักษากลางแจ้งในโรงพยาบาลท้องถิ่น หลังจากแรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารได้รับความเสียหายและไม่มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะให้ผู้ป่วยเข้าไปภายในอาคาร

 

ขณะที่ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมาครั้งนี้ไม่ใช่แค่ภัยพิบัติเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ซับซ้อน ซึ่งทับซ้อนกับความเปราะบางที่มีอยู่เดิม โดยภัยพิบัติครั้งนี้ร้ายแรงมากและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีเพิ่มขึ้นทุกชั่วโมงเช่นเดียวกัน

 

ด้าน IFRC ได้เริ่มระดมทุนฉุกเฉินมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 3,390 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวเมียนมากว่า 100,000 คนหรือราว 20,000 ครัวเรือน ในการบรรเทาทุกข์และการฟื้นฟูในช่วง 24 เดือนข้างหน้า

 

อ้างอิง

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1172574

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1172574

https://www.thaipbs.or.th/news/content/350758

https://www.thansettakij.com/general-news/623621

บทความอื่น ที่น่าสนใจ

ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการด่วน กำชับเร่งดูแลประชาชนใกล้ชิดจากเหตุแผ่นดินไหว