เจาะลึก! แผ่นดินไหวเมียนมา ทำไมสะเทือนไทยรุนแรง พร้อมวิธีรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต

เจาะลึก! แผ่นดินไหวเมียนมา ทำไมสะเทือนไทยรุนแรง พร้อมวิธีรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต

แผ่นดินไหวเมียนมา ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คนไทยทั้งประเทศสามารถรับรู้ได้ จึงสร้างความตื่นตกใจอย่างมาก ทั้งที่เกิดในเมียนมา ห่างไกลไทยนับพันกิโลเมตร เพราะเหตุใดจึงสร้างความเสียหายมาถึงกรุงเทพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เราจะไปฟังผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาไขคำตอบถึงแผ่นดินไหวประเภทต่าง ๆ และปัจจัยที่ทำให้ความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว จะเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

 

 

 

แผ่นดินไหวเมียนมา ผลกระทบไทย ความเสี่ยง และการเตรียมพร้อม

 

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศเมียนมาได้ประสบกับแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ก่อให้เกิดคลื่นสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารในเมืองหลวง และทำไมกรุงเทพฯ ถึงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว

 

 

ย้อนดูประวัติศาสตร์แผ่นดินไหวในภูมิภาค

 

จากการศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเมียนมา ซึ่งมีรอยเลื่อนที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงได้ ในอดีต เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงใกล้เคียงกันในพื้นที่ดังกล่าว แต่เหตุการณ์ในปี 2473 ถือเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงในแนวดิ่ง ซึ่งมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ในขณะนี้

 

Cr.ภาพ : www.mitrearth.org

 

ต้นตอ คือ “รอยเลื่อนสะกาย” ยักษ์ใหญ่ที่ตื่นจากการหลับใหลใจกลางเมียนมา

 

“รอยเลื่อนสะกาย” รอยเลื่อนที่หลับไหลรอการปลดปล่อยพลังจนเกิดแผ่นไหวใจกลางเมียนมา จนส่งผลกระทบถึงประเทศไทย

จากกรณี เหตุแผ่นดินไหวความรุนแรง 8.2 ริกเตอร์ ความลึก 10 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ส่งผลกระทบมายังประเทศไทยทำให้หลายจังหวัดได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ริกเตอร์ ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา นับตั้งแต่นั้นมา รอยเลื่อนนี้กลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับนักธรณีวิทยาและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดที่มีความรุนแรง 8.2 ริกเตอร์ เกิดขึ้นอีกครั้งในพื้นที่เดียวกัน ส่งผลกระทบไปยังหลายจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่การถล่มของอาคารสูง และเกิดรอยร้าวของอาคารอีกหลายแห่ง อาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท

 

Cr.ภาพ : www.mitrearth.org

 

ติดอันดับ 1 ใน 3 รอยเลื่อนที่อันตรายสุดในโลก

 

สำหรับ รอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่มาก ติดอันดับ 1 ใน 3 รอยเลื่อนที่อันตรายสุดในโลก และเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่ถือว่ามีพลัง (Active Fault) สูงสุดในอาเซียน มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่านเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศพม่า เช่น มิตจีนา, มัณฑะเลย์, ตองยี, และย่างกุ้ง เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของรอยเลื่อนนี้ ทำให้มันสามารถส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในอนาคต

ในทางธรณีแปรสัณฐาน รอยเลื่อนสะกายเป็นจุดตัดระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อย 2 แผ่น ได้แก่ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และแผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)

จากบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต รอยเลื่อนสะกายได้ปล่อยแผ่นดินไหวที่มีขนาด 7.0 ขึ้นไปถึง 70 ครั้งในช่วง 562 ปีที่ผ่านมา โดยแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงที่สุดคือในปี 2455 ที่กล่าวถึงข้างต้น ข้อมูลทางสถิติยังบ่งชี้ว่ามีศักยภาพที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ถึง 8.6 ได้ โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนา

 

 

ผลกระทบต่อประเทศไทย

 

จากข้อมูลของ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ที่ระบุว่า แผ่นดินไหวที่รุนแรงครั้งนี้ เคยเกิดขึ้นที่มัณฑะเลย์เมื่อ 113 ปีก่อน ซึ่งแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้แผ่คลื่นแผ่นดินไหวกระจายออกมา ส่วนกทม.ห่าง 1,000 กม.แต่มีแอ่งดินอ่อนขนาดใหญ่มาก ทำให้ขยายความรุนแรงได้จากแผ่นดินไหวขนาดไกลได้  จะสั่นแบบเป็นจังหวะ สั้นแบบช้า ๆ แต่จังหวะยาว ๆ ไม่กระทบอาคารเล็ก แต่จะกระทบอาคารสูง ๆ

 

ขณะที่ การศึกษาจากหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน พบว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ประเทศไทยอาจได้รับแรงสั่นสะเทือนในระดับ IV-V ตามมาตราวัดเมอร์คัลลี่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯ ซึ่งเคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต

รอยเลื่อนสะกายมีพฤติกรรมเฉพาะที่มักจะสะสมพลังงานเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในอนาคต แทนที่จะปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลาย ๆ ครั้ง

 

ด้วยพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่น่ากลัว รอยเลื่อนสะกายจึงถือเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อทั้งประเทศเมียนมาและประเทศไทย การเฝ้าระวังและการศึกษาเกี่ยวกับรอยเลื่อนนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมตัวและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

 

ความเสี่ยงของเมืองกรุงเทพฯ

 

นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ กล่าวถึงความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ว่า อาคารสูงในเมืองหลวงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหว แต่อาคารบางหลังอาจมีข้อบกพร่องด้านการออกแบบหรือการก่อสร้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ อาคารที่ไม่ได้ออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างเหมาะสม อาจประสบกับความเสียหายรุนแรง โดยเฉพาะอาคารที่มีความสูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสั่นสะเทือนมากกว่าตึกเตี้ย

 

การเตรียมความพร้อมและการตรวจสอบอาคาร

การตรวจสอบอาคารก่อนเข้าใช้งานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ แนะนำว่า ก่อนที่จะกลับเข้าไปในอาคาร ควรมีการตรวจสอบสภาพโครงสร้างของอาคาร เช่น เสาและกำแพง ว่ายังคงแข็งแรงอยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

Cr. ภาพ : waymagazine.org

 

ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว

 

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากประเทศญี่ปุ่น และเม็กซิโก ที่มีระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้า 10-15 วินาที ก่อนที่คลื่นสั่นจะถึงตัวเมือง ในขณะที่ระบบของกรมอุตุนิยมวิทยาใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการแจ้งเตือน จึงเป็นเวลาที่นานเกินไปเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

 

การเตรียมความพร้อมในอนาคต

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นจุด Wake Up Call ให้กับวงการสถาปนิกและการก่อสร้างในประเทศไทย ว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานการออกแบบอาคารให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดการฝึกซ้อมการเตือนภัยและการอพยพในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการออกแบบอาคาร การตรวจสอบโครงสร้าง และการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

 

บทเรียนแผ่นดินไหวเมียนมา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ESG

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงเป็นบทเรียนสำคัญด้านความปลอดภัยของอาคารและการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงโดยตรงกับประเด็น ESG และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้น แม้แผ่นดินไหวจะไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อนโดยตรง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมของสังคมในการรับมือกับภัยพิบัติ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึง ESG จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การออกแบบและก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความทนทานต่อภัยพิบัติ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความแข็งแรงปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ในด้านสังคม (Social) การเตรียมความพร้อมของชุมชน การให้ความรู้และการซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติ จะช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มักได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า

ส่วนด้านธรรมาภิบาล (Governance) หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเข้มงวด พัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการความเสี่ยง

บทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดโลกร้อน และการดำเนินงานตามกรอบ ESG อย่างจริงจัง เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ทั้งจากภัยธรรมชาติและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

อ้างอิง

 

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/245756#google_vignette

https://shorturl.asia/mMUo7

https://www.bbc.com/thai/articles/c0mwmglg84ro

 

บทความอื่น ที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก “Xaver™ 400” เรดาร์อัจฉริยะ จากอิสราเอลถึงไทย มองทะลุซากปรักหักพังได้ ช่วยชีวิตเหยื่อแผ่นดินไหว