ท่ามกลางกระแสตื่นตัวด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เมื่อผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้งหลังสถานการณ์โรคระบาด พวกเขามองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ผสมผสานการดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน เรามาเจาะลึก Wellness Tourism เพื่อทำความเข้าใจเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้ ว่าคืออะไร ดีต่อเรา และดีต่อโลกอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เติบโตรับ Mega Trend สังคมสูงวัย–คนใส่ใจสุขภาพ
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น นักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการเพียงการพักผ่อน แต่ยังแสวงหาประสบการณ์ที่ช่วยฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำสปา การนวดแผนไทย การฝึกโยคะ หรือโปรแกรมดีท็อกซ์ต่างๆ
สำหรับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Tourism ทั่วโลกเติบโตปีละ 20% Global Wellness Institute คาดปี 2568 มีมูลค่าธุรกิจ Wellness ทั่วโลกสูงถึง 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีศักยภาพในการเสริมความแข็งแกร่งทางสังคมและเศรษฐกิจ
ขณะที่ ข้อมูลจาก Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั่วโลกมีอัตราการเติบโตและมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกระจายเป็นแขนงธุรกิจต่าง ๆ เช่น
- กลุ่มธุรกิจดูแลความงามส่วนบุคคลและศาสตร์ชะลอวัย (Personal care beauty and anti aging) มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- กลุ่มธุรกิจอาหารและการดูแลน้ำหนัก (Healthy eating nutrition & weight loss) มีมูลค่า 7.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มีมูลค่าสูงถึง 6.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
จุดเด่นของไทยในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ประเทศไทยนับว่า เป็นประเทศที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ การท่องเที่ยว ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ราคาที่เข้าถึงได้ และความเป็นไทยที่ได้ใจคนทั่วโลก โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลาย ๆ ด้าน หากเราสามารถขยายฐานตลาดการท่องเที่ยวเพิ่มได้ สร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวพักผ่อนใช้จ่ายในประเทศเรามากขึ้น เม็ดเงินก็จะไหลเวียนเข้าสู่เศรษฐกิจมากขึ้นด้วย เกิดประโยชน์ให้ประเทศได้ในหลายภาคส่วน
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปี 2017 ประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสูงถึง 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้สูงถึง 409,000 ล้านบาท การจ้างงานสูงถึง 530,000 คน ประเทศเราติดอันดับ 4 ของเอเชียในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เติบโตเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีโอกาสไต่อันดับขึ้นมาได้อีกหากวางแผนรองรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลกอย่างเหมาะสม ประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว
โดยศักยภาพและจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยว เชิงสุขภาพในประเทศไทยส่วนใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ความอุดมสมบูรณ์ของป่า บางแห่งเป็นแหล่งมรดกโลก มีการนำทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้ส่งเสริมสุขภาพ เช่น น้ำพุร้อน น้ำแร่ โคลนร้อน ทรายร้อน น้ำพุร้อนเค็ม (Salt spring)
สถิติต่าง ๆ การันตี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย ไปได้สวย
- การวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก หรือที่ 1 ของเอเชีย จาก 195 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ
- ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในการให้บริการทางการแพทย์ระดับโลก และมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง JCI สูง ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คุณภาพของการรักษาพยาบาลในประเทศไทยสามารถดูแลรักษาตัวเขาหรือครอบครัวของเขาได้
- ติดอันดับที่ 2 ของโลก จากการโหวตให้เป็นประเทศเป้าหมายที่อยากคนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองจากออสเตรเลีย จากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020
- กรุงเทพฯ ได้รับการจัดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก สำหรับสถานที่เหมาะสำหรับทำงานไปด้วยท่องเที่ยวไปด้วย หรือที่เรียกว่า Workation จากHolidu Magazine UK ตามมาด้วยเชียงใหม่ ภูเก็ต ได้อันดับ 10 ของโลก
- ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่อันดับ 5 ของโลก จาก Money UK เป็นสถานที่ที่คนเกษียณอายุอยากไปอยู่ที่สุด
- กรุงเทพฯ ได้อันดับ 1 ของ Best Cities จากการสำรวจ Readers’ Choice Awards 2022 ของนิตยสารDestinAsian
Wellness Tourism คนมาเที่ยวไม่ได้ป่วย
สำหรับ หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) คือการที่นักท่องเที่ยวไม่ได้มาด้วยอาการเจ็บป่วย แต่ต้องการผสมผสานการดูแลสุขภาพเข้ากับการท่องเที่ยว โดยสามารถแบ่งรูปแบบหลัก ๆ ได้ดังนี้
การท่องเที่ยวควบคู่การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน
- ตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น ระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด
- ตรวจพันธุกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคในอนาคต
- รับคำปรึกษาและวางแผนการดูแลสุขภาพกับแพทย์
การท่องเที่ยวเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ
- เลือกรับประทานอาหารเกษตรอินทรีย์
- ชิมอาหารท้องถิ่นที่มีเรื่องราวและคุณค่าทางโภชนาการ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารแปรรูป
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจิตและการผ่อนคลาย
- ฝึกสมาธิและปฏิบัติธรรม
- เรียนโยคะและไท้เก๊ก
- นวดไทยและแพทย์แผนไทย
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบเนิบช้า
- เยี่ยมชมศิลปะและประวัติศาสตร์
- เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง
- ท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ มีผู้รู้ท้องถิ่นให้ข้อมูล
การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมและธรรมชาติ
- กิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ
- พักโฮมสเตย์เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น
- เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ
สิ่งสำคัญสำหรับผู้ให้บริการคือการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย เช่น ห้องพักที่มีอุปกรณ์ป้องกันการลื่นล้ม ระบบไฟอัตโนมัติในเวลากลางคืน เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ในจุดสำคัญ
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงเป็นการผสมผสานระหว่างการพักผ่อน การดูแลสุขภาพ และการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสบายของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
อยากวางแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องทำอย่างไร?
ผู้สนใจอยากวางแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ได้ลองไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองดังนี้
- ควรร่วมมือกับสถานพยาบาล ออกแบบบริการเพื่อตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาพักผ่อนร่วมกับการตรวจร่างกายประจำปี และดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร
- ปรับสถานที่ให้เอื้อกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น มีราวจับ ป้องกันการหกล้ม ในห้องน้ำ ทางขึ้น-ลงบันได
- ไฟส่องสว่างยามค่ำคืนแบบเซ็นเซอร์ ป้องกันการสะดุด เตะโต๊ะหรือเตียง
- ปรับพื้นที่ป้องกันการลื่นหกล้ม ลดพื้นที่ต่างระดับ เพิ่มทางลาดเอียงสำหรับรถเข็นให้สะดวกผู้สูงอายุ
- เตียง ฟูก หมอน มีหลายระดับ ความแข็ง-ความนุ่มตามความต้องการของผู้มาพัก เพราะบางคนมีข้อจำกัดทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ทำให้การนอนหลับมีคุณภาพ
- อาจเพิ่มเติมอุปกรณ์ออกกำลังกายภายในห้องพัก เช่น ลู่วิ่ง เสื่อโยคะ เพิ่มทางเลือกให้ออกกำลังกายภายในห้องพักได้
- มีการฝึกพนักงานในการช่วยชีวิต ปั๊มหัวใจกรณีฉุกเฉิน ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจ AED เพื่อเพิ่มความปลอดภัย
- ใช้ผลิตภัณฑ์ สบู่ แชมพูสระผม ปราศจากสารเคมี เป็นมิตรกับธรรมชาติ
- ลดการใช้พลาสติก หันมาใช้หลอดกระดาษ น้ำขวดแก้ว เป็นต้น
อนาคตธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
การผสานแนวคิด ESG กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่เพียงสร้างผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสนี้และสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ จะเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
การลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยึดหลัก ESG จึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับการเติบโตในระยะยาว ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่เข้าใจและสามารถตอบสนองต่อความต้องการนี้ จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
อ้างอิง
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
https://tatacademy.com/th/articles/article/1f96f700-896a-4f19-845f-f39e00ccf650
https://thestandard.co/wellness-tourism/