ลดควันดำจากการนึ่งไอน้ำข้าวฮางงอก : นวัตกรรมที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ

ลดควันดำจากการนึ่งไอน้ำข้าวฮางงอก : นวัตกรรมที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ

 

ข้าวฮางงอกเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชาวอีสานที่มีมาแต่โบราณ โดยเป็นข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก ทำให้มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์สูงกว่าข้าวทั่วไป ข้าวฮางงอกยังมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์จากกระบวนการแปรรูป และอุดมไปด้วยสารกาบา GABA (Gamma-Aminobutyric Acid) ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง

นอกจากนี้ ข้าวฮางงอกยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต และมะเร็งบางชนิด อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีและสารตกค้างต่างๆ

 

 

กระบวนการผลิตข้าวฮางงอก

การผลิตข้าวฮางงอกมีขั้นตอนที่พิถีพิถัน เริ่มจากการนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำเพื่อกระตุ้นการงอก ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวสร้างสารอาหารสำคัญ คือ สาร GABA (กาบา) ที่มีส่วนช่วยในเรื่องความจำ และเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อหยุดกระบวกการงอก ทำให้สารอาหารที่เพิ่มขึ้นคงอยู่ในเมล็ดข้าว และคงคุณค่าทางโภชนาการให้คงไว้ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้ง และนำไปสีโดยเครื่องสีข้าวกะเทาะเปลือก 

อย่างไรก็ตาม การนึ่งข้าวฮางแบบดั้งเดิมใช้เตาไม้ฟืน ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานสูง ใช้เวลานาน ควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ และสร้างมลภาวะทางอากาศจากควันและขี้เถ้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ผลิตและชุมชนโดยรอบ

 

 

นวัตกรรมการนึ่งข้าวฮางงอกเพื่อประสิทธิภาพและความยั่งยืน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนา “นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก”

โดยใช้กระบวนการนึ่งด้วยไอน้ำ (Steamer) ที่ควบคุมความร้อนอย่างแม่นยำ และใช้เชื้อเพลิงแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) แทนไม้ฟืน ซึ่งให้ค่าความร้อนสูงกว่าและช่วยลดมลพิษทางอากาศ อุปกรณ์ที่ใช้เป็นสแตนเลสเกรดอาหาร (Food Grade) ช่วยรักษาความสะอาดและความปลอดภัยในการผลิต

ทั้งนี้ “ขั้นตอนการนึ่งข้าวเปลือก” เป็นกรรมวิธีสำคัญในการผลิตข้าวฮาง ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ในการนึ่งข้าวฮางงอกของชุมชน ประกอบด้วย เตาและไม้ฟืน ซึ่งวิธีนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการผลิต เนื่องจากมีความร้อนสูญเสียที่กระจายออกรอบเตา ทำให้ไม่สามารถควบคุมความร้อนและอุณหภูมิของเตาให้คงที่ จึงต้องใช้เวลานานในการนึ่งแต่ละครั้ง 

 

นอกจากนี้ ระยะเวลาในการนึ่ง ยังขึ้นอยู่กับค่าความร้อนของไม้ฟืนแต่ละชนิด โดยค่าความร้อนของไม้ฟืนและถ่านไม้ (Heating Value) เฉลี่ยประมาณ 6,000 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม คาร์บอนคงที่ (Fixed carbon) ประมาณร้อยละ 60 สารระเหย (Volatile Matter) ประมาณร้อยละ 16 และเถ้า (Ash) ประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ขึ้นกับความชื้นของไม้ (Moisture) โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ไม้ฟืนเปียกชื้น ทำให้ติดไฟยาก และใช้เวลานานมากขึ้นในการนึ่งข้าวฮางงอก ที่นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานสูงแล้ว ยังมีปัญหาต่อเนื่องจาก ฝุ่น ควัน เขม่า และขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้ฟืน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพผู้ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบ         

 

ดังนั้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอกที่ทันสมัย และใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพที่ให้ความร้อนสูงและลดมลภาวะทางอากาศ มาประยุกต์ใช้ในชุมชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านการใช้ไม้ฟืนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตที่ก่อให้เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน นวัตกรรมเทคโนโลยียังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางงอก ลดขั้นตอนการผลิต ลดระยะเวลา ลดแรงงาน และมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน ลดความเครียดและความเหนื่อยล้าจาก ฝุ่น ควันที่เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนให้สามารถผลิตข้าวฮางงอกเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นเพื่อจำหน่ายต่อไป 

 

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักกลอัตโนมัติ(ศนย.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการนึ่งในการผลิตข้าวฮางงอกที่เกิดการสูญเสียพลังงานสูง จึงได้พัฒนาและออกแบบ “นวัตกรรมการนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตข้าวฮางงอก” และจัดสร้างอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับใช้ในกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอก

 

โดยการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว เป็นการปรับปรุงกระบวนการนึ่งด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยกระบวนการนึ่งแบบไอน้ำ (Steamer) โดยใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลวหรือแก๊สแอลพีจี (LPG) เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีค่าความร้อน 11,700-11,900 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม อุณหภูมิเปลวไฟประมาณ 1,900-2,000 องศาเซลเซียส ทำให้มีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ โดยแก๊สแอลพีจีมีค่าความร้อนมากกว่าฟืนประมาณ 3 เท่า อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการผลิต ทำให้ประหยัดและลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงพลังงาน วัสดุที่ใช้ประกอบซึ่งต้องสัมผัสกับอาหาร เป็นสแตนเลสเกรดอาหาร (Food Grade) เพื่อให้เกิดความสะอาด มีความปลอดภัย อีกทั้งยังแข็งแรง คงทน สามารถทำความสะอาดและเก็บรักษาง่าย เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตให้กับธุรกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปจำหน่ายข้าวฮางงอก

 

 

ผลลัพธ์จากการนำนวัตกรรมมาใช้

จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวพบว่า นวัตกรรมการผลิตข้าวฮางงอกด้วยระบบนึ่งแบบไอน้ำ (Steamer) โดยใช้ก๊าซแอลพีจีสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวฮางงอก ได้แก่:

  1. ควบคุมอุณหภูมิได้แม่นยำ ทำให้คุณภาพข้าวสม่ำเสมอ
  2. ลดต้นทุนพลังงานลง 25% จาก 1.5 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 1.2 บาทต่อกิโลกรัม
  3. ลดการใช้แรงงานลง 50% จาก 4 คน เหลือ 2 คน
  4. เพิ่มผลผลิตขึ้น 33% จาก 450 กิโลกรัมต่อวัน เป็น 600 กิโลกรัมต่อวัน
  5. สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 100,000 – 200,000 บาท ตามกำลังการผลิตของแต่ละชุมชน
  6. ลดมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาควันจากฟืน ลดผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน

 

 

การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

วว. ได้ถ่ายทอดนวัตกรรมนี้ให้กับ 4 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่:

  1. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านห้วยไห อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม
  2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพมนต์บ้านต้องโพนสวาง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
  3. วิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวตำบลน้ำผึ้ง (ข้าวสุข) อ.เมือง จ.นครพนม
  4. วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวกล้อง ต.โพนทองและต.บ้านแพง จ.นครพนม

 


 

ก้าวต่อไปของนวัตกรรมข้าวฮางงอก

ปัจจุบัน วว. ได้จดอนุสิทธิบัตรอุปกรณ์ท่อนำไอน้ำแรงดันต่ำแยกทิศทางสำหรับกระบวนการนึ่งข้าวฮางงอก และอยู่ระหว่างขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการแปรรูปข้าว เพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงขยายการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวฮางงอกอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ นำไปสู่ความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตข้าวฮางงอกทั่วประเทศ

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ วว.

    • Call Center: 0 2577 9000
  • ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”