รถไฟฟ้า สายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่ –เตาปูน)
ที่ชาวนนทบุรี รอคอยมายาวนาน เกือบ 8 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างราวเดือน
พฤศจิกายน 2552 และ คาดว่า จะเปิดให้บริการได้ในราวเดือนสิงหาคม 2559 นิ้ แต่เมื่อใกล้กำหนดของการเปิดเดินรถอย่างเป็นทางการ
หลายฝ่ายเริ่มหันกลับมาพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่า รถไฟฟ้าสายนี้ ในปัจจุบันอาจสั้นเกินไป
เมื่อทิศทางการขยายตัวของเมือง เริ่มมีรัศมีออกไปไกลมากกว่าเดิม
การขยายตัวของเมือง
ส่งผลให้เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก และมีพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดนนทบุรีต่อเนื่องจังหวัดปทุมธานี
อันเป็นแนวถัดจากสถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่) จากที่เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า
เป็นพื้นที่เกษตร กลายสภาพเป็นพื้นที่เมือง ถัดออกไป ยังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
ที่มีความต้องการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า ซึ่งกลายมาเป็นเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงออกไปโดยควรบรรจุเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์การลงทุนภายใต้รัฐบาลชุดนี้
เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว “นายภัสพลภ์ ชัยสุริยาทวิกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับจุดสิ้นสุดรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดเผยกับ
“THAIQUOTE” ว่า “รถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ ถ้าขยายมาได้ก็ดี
เพราะในพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีฝั่งตะวันตกเองก็มีการขยายเมืองออกไปมาก
โดยเฉพาะมากจากทางฟากจังหวัดนนทบุรี ที่เร็วๆ นี้ก็จะมีโครงการการต่อขยายถนนราชพฤกษ์
มาถึงเขตจังหวัดปทุมธานี
ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ซึ่งใกล้เคียงรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้
จึงอยากเสนอให้มีการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากเดิมที่สิ้นสุดที่บางใหญ่-บางบัวทอง
ให้มาถึงแยกลาดหลุมแก้ว โดยยึดเอาแนวเส้นทางหมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวน) ที่จะมาถึงแยกลาดหลุมแก้วได้
เพื่อรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรร
รองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ของพื้นที่จังหวัดปทุมธานีฝั่งตะวันตก”
ขณะที่
“นาย สุริยัน บุญยมโนนุกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดนนทบุรี กล่าว กับ “THAIQUOTE” ว่า “ทางหอการค้าเคยเสนอไปยังรัฐบาลก่อนๆ ว่ารถไฟฟ้าสายนี้ ควรจะขยายไปถึงแยกไทรน้อย
ซึ่งจะเลยจากสถานีสุดท้ายคลองบางไผ่มาอีกประมาณ 4-5 กิโลเมตร ซึ่งหากมีการขยายเส้นทางมาถึงสี่แยกไทรน้อย
และเลี้ยวขวา ไปทาง 5 แยกปากเกร็ด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู
เพราะรถไฟฟ้าสายสีชมพูสามารถผ่านไปยังเมืองทองธานี
–ศูนย์ราชการ -ถนนวิภาวดีฯ –ใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง และข้ามไปยังกรุงเทพฯ
ฝั่งตะวันออกที่มีนบุรี ซึ่งจะทำให้ระบบคมนาคมครบวงจรมากยิ่งขึ้น
โดยก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอและมีการให้ทางหอการค้าไปสำรวจเส้นทางในแถบแยกทางหลวงสาย
345 ซึ่งเลยจากแยกไทรน้อยไปเล็กน้อย
พบว่ามีความเหมาะสมสำหรับการสร้างสถานีใหญ่ของรถไฟฟ้า เพราะเป็นพื้นที่ชุมทางในการเชื่อมต่อรัศมี
5 จังหวัด คือ จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี และเลยจากสถานีบางไผ่ออกไปราว
5-6 กิโลเมตรเท่านั้น
และทางแถบนั้นก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่
รวมทั้งส่วนราชการสำคัญๆ อย่าง ที่ว่าการอำเภอใหม่บางบัวทอง สถานีตำรวจบางบัวทอง
รวมถึง ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีภาคเอกชนไปลงทุนทำโกดัง และออฟิศมาขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้นจะเกิดประโยชน์ต่อการคมนาคมของประชาชนเป็นจำนวนมาก
ในปัจจุบันนี้
หากมองจากประชากรเฉพาะจังหวัดนนทบุรี ที่มีการแจ้งตามระบบนั้นก็มีอยู่กว่า 1.2
ล้านคน และยังมีจำนวนประชากรแฝงอีกราว 5-6 แสนคน ถือว่ามีประชากรค่อนข้างหนาแน่น
หากมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็จะทำให้นนทบุรีฝั่งตะวันตกมีระบบการคมนาคมที่สะดวกขึ้น
และเป็นการรองรับกับจำนวนประชาชนในอนาคต ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี”
นอกจาก
แนวการขยายตัวของเมือง ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลสำคัญ
ที่รัฐบาลควรหันกลับมาพิจารณาถึงเส้นทางต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว
เรื่องของการลงทุนต่อเนื่องในรูปแบบของ
ระบบโครงสร้างพื้นฐานก็ยังคงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ
ที่ควรจะมีการพิจารณาขยายรถไฟฟ้าสายนี้
นั่นคือรัฐบาลได้อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์
ที่เชื่อมต่อเส้นทางสำคัญ อย่างเส้นทางบางใหญ่ –กาญจนบุรี อันเป็นเส้นทางสำคัญแห่งการค้าการลงทุนในส่วนเมกะโปรเจ็กต์ท่าเรือทวาย
ซึ่งก็กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แม้ว่าจะมีเส้นทางแยกออกจากแนวรถไฟฟ้าไปทางตะวันตก
แต่ในด้านทิศเหนือของสถานีบางไผ่ สถานีสุดท้ายแห่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถึง
อำเภอบางบัวทอง และไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และข้ามไปยังจังหวัดปทุมธานี และอำเภอ บางปะอิน อำเภอวังน้อย
ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่อยู่อาศัย และเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
และเป็นเส้นทางต่อเนื่องจาก รถไฟฟ้าสายสีม่วงสายนี้
รวมถึงรถไฟฟ้าชานเมือง สายบางซื่อ –ตลิ่งชัน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
และ การเปิดใช้ของระบบทางด่วน “ศรีรัช – วงแหวนรอบนอก
ที่จะเปิดใช้ในช่วงใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือราวกลางปี 2559
ซึ่งก็จะเป็นอีกเส้นทางสำคัญ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วงออกไปทางทิศเหนือ
เพราะทั้งหมดจะเป็นระบบคมนาคมที่รองรับกับการขยายของเมือง
และรองรับกับการเดินทางจากชานเมือง และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของภาคกลาง
เข้าสู่กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ยังมีส่วนต่อขยายที่ดำเนินการแล้ว
ไปทางใต้ ช่วงระหว่างเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เท่ากับว่า
หากเกิดโครงการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง จาก บางใหญ่ ไปทางด้านเหนือ
แล้วเชื่อมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่ปากเกร็ดได้จริง จะกลายเป็นแนวคมนาคมแบบครบวงจร
ครอบคลุมด้านตะวันตกของเมืองหลวงทั้งหมดเป็นแนวเดียวกัน อย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลประการสำคัญที่รัฐบาล
ควรนำเอากลับไปเป็นการบ้าน เพื่อพิจารณาขยายเส้นทาง ภายในระยะเวลาของรัฐบาลนี้
ที่ตามโรดแม็ป ถือว่า
“ยังพอมีเวลาสำหรับการเก็บเกี่ยวเอาเสียงเรียกร้องนี้ไปพิจารณา”
และอาจจะกลายมาเป็น “ผลงานชิ้นโบแดง” ที่สร้างไว้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ปริมณฑล
ทั้ง นนทบุรี และ ปทุมธานี
ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงในรัศมีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในส่วนภูมิภาคอีกหลายจังหวัด ที่เมื่อรวมจำนวนประชากรแล้ว ประเมินคร่าวๆ ว่า
น่าจะไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน
ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้