‘เคแบงก์ -กรุงไทย’ ปล่อยกู้สินเชื่อยั่งยืน 1.2หมื่นล้าน ส่งกลุ่ม GC เปลี่ยนผ่าน’เคมีภัณฑ์ยั่งยืน’

‘เคแบงก์ -กรุงไทย’ ปล่อยกู้สินเชื่อยั่งยืน 1.2หมื่นล้าน ส่งกลุ่ม GC เปลี่ยนผ่าน’เคมีภัณฑ์ยั่งยืน’


“ธุรกิจเคมีภัณฑ์” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในไทย ที่เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ที่อยู่ในธุรกิจนี้ ในการประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการเร่งลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ลดการใช้ฟอสซิล มุ่งสู่พลังงานสะอาด ผ่านทั้งเงินลงทุนของบริษัท และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงิน ในการปล่อย “สินเชื่อสีเขียว” (สินเชื่อที่ปล่อยให้กับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) 

 

“ธุรกิจสีเขียว” ย่อมนำความยั่งยืนมาสู่ธุรกิจ และต่อโลก !

 

ล่าสุด “ธนาคารกสิกรไทย” สถาบันการเงินที่สนับสนุนการให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อ 1-2 แสนล้านบาทภายในปี ค.ศ. 2030 ตาม Net Zero Commitment ได้สนับสนุนวงเงินสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินการด้านความยั่งยืน(Sustainability-Linked Loan : SLL) วงเงินสูงถึง 10,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์รายใหญ่ในไทย เพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050

 

 

 

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจด้วยสมดุล ESG มาอย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ 3 Steps Plus มุ่งสู่ธุรกิจ High Value and Low Carbon ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยมีแผนงานและความก้าวหน้าที่ชัดเจน

โดยการได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อครั้งนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ GC ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย และแสดงให้เห็นว่า GC และธนาคารกสิกรไทย เป็นพันธมิตรที่มีเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ GC เป็นบริษัทแรกและเป็นบริษัทหนึ่งเดียวในโลกที่ได้รับการจัดอันดับจาก DJSI ในกลุ่ม World Index ให้เป็นที่ 1 ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ด้วยคะแนนสูงสุด 5 ปีต่อเนื่อง นับเป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนในระดับสากล

ด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย มีภารกิจสำคัญในฐานะสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการสนับสนุนผลักดันด้านการให้สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย 1-2 แสนล้านบาทภายในปี ค.ศ. 2030 ตาม Net Zero Commitment ที่ได้ประกาศไว้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ร่วมกันเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy) และสร้างความยั่งยืนในระยะยาวแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“ธนาคาร คาดหวังว่าความสำเร็จร่วมกันในครั้งนี้ จะผลักดันให้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ซึ่งเป็นพันธมิตรของธนาคารมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ได้ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้”

ทั้งนี้ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability-Linked Loan (SLL) ที่ธนาคารให้การสนับสนุนแก่ GC นั้น เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีตัววัดที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI : Dow Jones Sustainability Indexes)

นี่คือ การผนึกความร่วมมือของสองธุรกิจสำคัญในไทย ได้แก่ สถาบันการเงิน และ ภาคธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่ ร่วมกันสร้างธุรกิจสีเขียว ด้วยความมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศ ร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Economy)

 

 

 

 

กรุงไทย หนุนสินเชื่อยั่งยืน GGC
ยกระดับเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ธุรกิจในกลุ่ม GC บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม GC ผู้บุกเลิกผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan) มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงการผลิต และการลงทุนรองรักการเติบโต ให้สอดคล้องกับ ทิศทาง คาร์บอนเป็นศูนย์ (Netw Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)

GGC มีเป้าหมาย เป็นผู้นำผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และผู้บุกเบิกด้านกาผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมี เป็น ดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืน โดยโดยเชื่อมโยงจากภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่จะต่อจิ๊กซอว์ห่วงโซ่ความยั่งยืนไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปลายน้ำ โดยยึดหลักผสาน ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ Environment Social Governance (ESG)

นายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยถึง การร่วมลงนามกับธนาคารกรุงไทยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ระยะยาวกับ GGC มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ รวมถึงการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อดำเนินการตามนโยบายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และการบริหารจัดการสภาพคล่องในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น

อีกทั้งยัง เป็นการตอกย้ำการดำเนินการกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืนยึดตามหลักการ ESG ให้ความสัมคัญกับ ผู้มีส่วนได้เสียโดยมีตัววัดการประเมิน ( KPI) ที่เชื่อมโยงการจัดอันดับ CDP Climate Rating และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ขององค์กรในปี 2050 (พ.ศ.2593)

“ความร่วมมือ สะท้อนให้เห็นว่า GGC และธนาคารกรุงไทยก่อให้เกิดการสร้างคุณค่ารวมให้ทุกมิติให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต โดยมีเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยสัญญาการสนับสนุนสินเชื่อ SLL เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ นำไปลงทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตลอดจนบริหารจัดการสภาพคล่อง”

ทางด้าน นายสุรธันว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย มีเป้าหมายขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยESG ให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ จึงสนับสนุนสินเชื่อ Sustainability-Linked Loan ให้กับ GGC ที่ร่วมมือกันดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตยั่งยืนให้กับประเทศ

ทั้งนี้ Sustainability-Linked Loan ถือเป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาวให้กับธุรกิจที่มุ่งเน้นการลงทุนพัฒนาและวิจัยนวัตกรรม หรือสร้างความยั่งยืนให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคม โดยธนาคารมีวิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเชื่อมโยงกับดัชนี

“การจัดอันดับด้านความยั่งยืนระดับสากล (Global Rating) และการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน สนับสนุนให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับทุกภาคส่วนในสังคมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิด นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน”