“พาณิชย์” ปลื้ม การค้าชายแดน-ผ่านแดนไทย 4 เดือน ปี 62 ทำได้ มูลค่า 458,513.20 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.61% มาเลเซียยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งไทย ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้เป็นแชมป์ น่าจับตายอดพุ่งถึง 59.89% มั่นใจสงครามการค้า 2 มหาอำนาจ ไม่กระทบค้าชายแดน-ผ่านแดน
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 458,513.20 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.61% เป็นการส่งออก 256,419.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.43% และการนำเข้า 202,094.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.15% เกินดุลการค้า 54,324.82 ล้านบาท โดยหากแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มีมูลค่า 369,365.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.05% เป็นการส่งออก 208,714.26 ล้านบาท ลดลง 3.01% นำเข้า 160,651.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.33% เกินดุลการค้า 48,063.09 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 89,147.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.75% เป็นการส่งออก 47,704.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.77% นำเข้า 41,443.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.45% เกินดุลการค้า 6,261.73 ล้านบาท
ทั้งนี้ การค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 185,252.52 ล้านบาท ลดลง 0.70% เป็นการส่งออก 88,591.76 ล้านบาท ลดลง 8.78% นำเข้า 96,660.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.08% รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 65,900.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.83% สปป.ลาว มูลค่า 64,519.34 ล้านบาท ลดลง 9.73% และกัมพูชา มูลค่า 53,692.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.09% ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 38,940.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.89% เป็นการส่งออก 16,122.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.13% นำเข้า 22,817.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.62% รองลงมา คือ เวียดนาม มูลค่า 26,639.31 ล้านบาท ลดลง 1.94% และสิงคโปร์ มูลค่า 23,567.83 ล้านบาท ลดลง 9.94%
นายอดุลย์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกชายแดนด้านมาเลเซียชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อปริมาณการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบกับปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากปัญหาฝนตกชุกในพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการค้าโดยรวม แต่การนำเข้าสินค้าทุน เช่น ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในอนาคต ขณะที่การค้าชายแดนด้าน สปป.ลาว มีภาวะหดตัวลง เนื่องจากจีนเข้ามาลงทุนในสปป.ลาว มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเหล็กและเหล็กกล้า และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ มีการชะลอตัวลง ส่วนด้านเมียนมา มีการนำเข้าสินค้าทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค และกัมพูชา มีการส่งออกเครื่องดื่มได้เพิ่มขึ้น รวมถึงรถจักรยานยนต์ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางยานพาหนะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 – 17 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดคณะผู้แทนลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ลดอุปสรรค และอำนวยความสะดวกทางการค้า เร่งติดตามความคืบหน้าพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA) ระหว่างไทย-สปป.ลาว พร้อมกับการประชาสัมพันธ์โครงการ YEN-D Frontier รุ่นไทย-เวียดนาม หรือ Young Entrepreneur Network Development Program at the Frontier ซึ่งเป็นการนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ชายแดนไทย โดยเฉพาะเชื้อสายไทย – เวียดนาม กับผู้ประกอบการเวียดนาม เพื่อสร้างความสัมพันธ์และนำไปสู่การขยายเครือข่ายทางธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2562 โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของเมียนมาเข้าร่วมด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
ท่ามกลางสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าไทยสามารถปรับตัว และใช้วิกฤติทางการค้าเป็นโอกาสที่จะขยายการค้าชายแดนได้เพิ่มมากขึ้น โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่าการค้าชายแดน-ผ่านแดนของไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการค้าผ่านแดนไปยังจีนตอนใต้ ที่มีมูลค่าการค้าขยายตัวสูงขึ้นมาก จากสินค้าผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และจากการที่จีนได้มีมาตรการทางการค้าตอบโต้สหรัฐฯ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถส่งสินค้าไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาทิ เนื้อสุกร เป็นต้น นายอดุลย์กล่าว ทิ้งท้าย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ