แม่น้ำท่าจีนแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีจุดหมายสายธารสู่อ่าวไทย ปลายทางปากแม่น้ำสุดท้ายก่อนไหลลงสู่ทะเล เช่นเดียวกันกับแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง รวมถึง แม่น้ำตาปี ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ดักจับขยะ ที่เป็นแหล่งพบกองขยะวัสดุจากทั่วประเทศไหลมารวมกันมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือน้ำหนักราว 148 ตัน
ธนาคารกรุงเทพเห็นปัญหานี้ จึงเข้าไปร่วมมือกับจังหวัดสมุทรสาคร สนับสนุนสร้างทุ่นดักขยะ ดักจับขยะบริเวณแหล่งน้ำ และติดตั้ง “น้องจุด” ที่พักขยะแบบถาวร ทำหน้าที่เป็นจุดรับขยะประเภทขวดพลาสติกบริเวณที่จัดกิจกรรมและตลาดนัด เพื่อเป็นจุดรวบรวมขยะพร้อมกันกับสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชนและโรงเรียนต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ขยะที่รวบรวมได้จากชุมชน ยังสามารถนำไปต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและสร้างเป็นรายได้คืนสู่ครอบครัว
นี่คือ ต้นแบบการจัดการขยะในชุมชนที่สามารถ พัฒนาไปสู่ “โครงการธนาคารขยะ” เป็นชุมชนต้นแบบ ที่ธนาคารสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม จุดประกายให้ชุมชนมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงลดขยะให้เหลือศูนย์ เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กพัฒนาไปสู่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมในที่สุด
โครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของธนาคารกรุงเทพที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยได้ร่วมลงนามใน “บันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ตเพื่อเข้าร่วมโครงการในระยะนำร่อง จำนวน 5 แห่ง
สำหรับพื้นที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาขยะถูกแบ่งกระจายการดูแลใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ ท่าจีน บางปะกง เจ้าพระยา แม่กลอง และ ตาปี
ก่อนเข้าไปแก้ไขปัญหา มีการศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนมาร่วมบริเวณแม่น้ำท่าจีน ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกอ่าวไทยจึงเริ่มต้นวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาต่อเนื่องในเวลา 5 ปี (ระหว่างปี 2566-2570)
ขยะกองมหึมา148 ตัน
เรื่องใหญ่มโหฬาร
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นโครงการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย จากที่ดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากเสร็จสิ้นโครงการในระยะที่ 1 ปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือ 148 ตันต่อปี
ปริมาณขยะจำนวนมากที่พบ จึงถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งกำจัดขยะให้เร็วที่สุด ควบคู่กับสกัดขยะไม่ให้ไหลลงสู่ท้องทะเลไปสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น
สแกนขยะจากปลายทางจนถึงต้นทาง
“การติดตั้งเครื่องมือดักขยะเพื่อทำหน้าที่บันทึกข้อมูลวัดปริมาณขยะแต่ละประเภท รวมถึงวิเคราะห์ที่มาของขยะเพื่อจะได้เข้าใจต้นต่อปัญหาอย่างชัดเจน ที่จะนำไปสู่การหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทำให้เป็นการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน“
สำหรับเครื่องมือดักขยะที่ติดตั้งในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่
-ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35×0.50 เมตร ตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิว 2 น้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี
-กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3×3 เมตร อายุใช้อีงาน 3-5 ปี
-เครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5×10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปีซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดัก ขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย
“น้องจุด” ฉลามวาฬพิทักษ์ ดักจับขยะบนบกก่อนคัดแยกรีไซเคิล
สำหรับ การติดตั้ง “น้องจุด”หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย
ทั้งนี้ จะมีการตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ โดยอุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบการตักขยะ ก่อนนำไป คัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป
ปลูกฝังตระหนักรู้ แยกขยะก่อนทิ้ง
สำหรับนอกจากการติดตั้งเครื่องมือหลักแล้วคณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินการตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชนและโรงเรียนต่างๆอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว
ธนาคารขยะ จบปัญหาขยะครบวงจร
เมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และคัดแยกขยะออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อเข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ
จากธนาคารขยะ ยกระดับสังคม รักษ์โลก ผลประโยชน์ร่วมย้อนสู่แบงก์
ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ Vice President ผู้ดูแลงานด้านความยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานครั้งนี้ว่า ธนาคารเกี่ยวข้องกับคนในสังคม ต้องการเข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจึงทำให้มีพลังมากยิ่งขึ้น เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กพัฒนาไปสู่คนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่หันมาใส่ใจร่วมมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในที่สุด
“ธนาคารเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม เพราะคนส่วนใหญ่จะมีการนำเงินไปฝากธนาคารหรือการลงทุนคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จากการรักษ์โลก แล้วแปลงมาสู่การยกระดับรายได้คนในชุมชน ดังนั้นเมื่อธนาคารมีส่วนยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน โครงการที่ดีเหล่านี้ ก็จะย้อนกลับมาสู่การสร้างผลประโยชน์ให้กับธนาคาร การพัฒนาสังคม จึงย้อนกลับมาสู่ธุรกิจ
ธนาคารฯจึงมีหน้าที่ชี้เป้าให้เห็นทั้งสองแง่มุมเพิ่อการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกันทั้งในเรื่องของสินเชื่อและโครงการต่าง ๆ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในธนาคารและประเทศไทย”
ESG ที่แท้จริง สังคม สิ่งแวดล้อม ย้อนคืนกลับธุรกิจ
ดร.จิระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนความยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทาง ESG ว่าการทำงานด้านความยั่งยืนนั้นยังนับว่าเป็นคนละส่วนกัน ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนที่เชื่อมโยงกันก็ตาม โดยหลักการและเป้าหมายของธนาคารก็คือการขับเคชื่อนด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อยู่ในมิติเดียวกันในอนาคต
“เราขับเคลื่อนด้านESG เป้าหมายให้เข้าใกล้กับธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จนในอนาคตจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องความยั่งยืนอีกต่อไป เพราะเป็นงานที่ธนาคารทำในทุกๆวัน”
ล่าสุดได้ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งที่ 8 สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน สมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสาคร องค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม จังหวัดสหกรณ์โคฆิตตาราม เพื่อติดตั้งเครื่องมือดักขยะในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
แก้โจทย์ชุมชน ตอบ4จิ๊กซอว์คุณค่าธนาคาร
โดยตัดสินใจวางแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกันอย่างครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวทางแก้ปัญหาครบวงจร เพิ่มการมีส่วนร่วม และสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตอบโจทย์หนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ใน 4 แนวทาง คือ
1.การบริหารจัดการความเสี่ยง
2.การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
3.การกำกับดูแลกิจการที่ดี
4.การสร้างสรรค์คุณค่าที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม