ปลดล็อกบาดแผลในใจวัยรุ่น TTA เปิดแพลตฟอร์มเพื่อนซี้คนโดนบูลลี่ ‘Buddy Thai’

ปลดล็อกบาดแผลในใจวัยรุ่น TTA เปิดแพลตฟอร์มเพื่อนซี้คนโดนบูลลี่ ‘Buddy Thai’


TTA ผนึกภาครัฐ แก้ปมบาดแผลในใจ เด็กถูกบูลลี่ ผ่านแพลตฟอร์ม “Buddy Thai” เพื่อนนักจิตวิทยา ปรึกษาคลายความโดดเดี่ยว เปลี่ยนปมชีวิตเป็นปัญญากล้าเผชิญโลก บันทึกรอยภาวะอารมณ์เพื่อเข้าใจและประเมินตนเอง

 

 

“พฤติกรรมการบูลลี่” (Bullying) เป็นการคุกคามทางคำพูด ที่กลายเป็นภัยร้ายแรงต่อเด็ก ความรุนแรงนี้สร้าง “บาดแผล” ให้ผู้ถูกกระทำ ส่งผลกระทบต่อสภาวะต่อจิตใจ และกาย ที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคม เพราะทำให้เกิดภาวะเครียดและภาวะซึมเศร้า (Depression) จากคำพูดด้อยค่าคน, เกิดภาวะวิตกกังวล (Anxiety) กลัวการอยู่ในกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนและพื้นที่สาธารณะ, มีปัญหาทางการเรียน ขาดสมาธิในการเรียน, เป็นเหตุให้มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ตอบโต้โดยการทะเลาะวิวาทและทำลายทรัพย์สิน, ปัญหาทางสังคม รู้สึกอับอาย แปลกแยกจากสังคม และมีพฤติกรรมแปรปรวนทางอารมณ์จนถึงทางเพศ แสดงออกไม่เหมาะสม รวมถึงมีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง

นี่คือปัญหาภัยร้ายแรงคุกคามวัยรุ่น ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน, ครอบครัว, และชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีทางระบบสังคม

 

 

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA จึงพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล ให้กับเด็กยุคดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อ “Buddy Thai” แพลตฟอร์มช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนบูลลี่ในสังคมไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และ เพจ Because We Care ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรม “BuddyThai โดนบูลลี่ มาหาบัดดี้” ในภาคใต้ภายใต้โครงการ “CYC Plus รู้รักในวัยเรียน”

กิจกรรมนี้จัดขึ้นด้วยความเจตนารมณ์และร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การสร้างสังคมดีจากการเริ่มต้นตั้งแต่วัยรุ่น ในการปลูกจิตสำนึก ค่านิยม และรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนตระหนักรู้เรื่องพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) การรู้เท่าทันอารมณ์ และการป้องกันการกระทำความรุนแรงในทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักช่องทางการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์การถูกกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชัน “BuddyThai”

กิจกรรม “BuddyThai โดนบูลลี่ มาหาบัดดี้” นี้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของโครงการ “CYC Plus รู้ รักในวัยเรียน” ที่ต้องการมุ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันการกระทำความรุนแรง และสร้างการรับรู้ที่ดีในการป้องกันตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่น ผ่านการอบรมและการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้

 

 

 

สำหรับ แอปพลิเคชัน “BuddyThai” เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง TTA และะกรมสุขภาพจิต โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนและวัยรุ่นราชนครินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ในโรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย

สำหรับแอปพลิเคชัน “BuddyThai” มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ คือ

1. ขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง

เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต, ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน

2. แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ)

มีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดีๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้

3. บันทึกข้อมูลอารมณ์

เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลายๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็กได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีม admin ก็จะ Monitor เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้

ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน “BuddyThai” ได้นำร่องให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครไปอย่างก่อนหน้านี้ และให้ดาวน์โหลดใช้งาน พร้อมแชร์ประสบการณ์ให้ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันนำไปวางแผนปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.buddy4thai.com