เรื่องราวการดำเนินธุรกิจอย่างมี ESG หรือการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล กลายเป็นเทรนด์ที่ทุกธุรกิจทั่วโลกต่างระดมประกาศแผนเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมถึง “ธุรกิจในไทย”
ทว่าสิ่งที่ประกาศแผนออกมานั้น ผู้บริโภคยังแคลงใจถึงผลลัพธ์ของการดำเนินการ ว่าทำจริง..! ดังที่ประกาศแผนไว้ หรือเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ “ฟอกเขียว” เพื่อทำให้ธุรกิจเกาะเทรนด์โลก เท่านั้น
“ความสำเร็จ” (Success Story) หรือความก้าวหน้า (Progress) ในการดำเนินการ จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเฝ้ารอให้ภาคธุรกิจมาเฉลยอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างของธุรกิจที่ออกมาประกาศความก้าวหน้าในการดำเนินการ คือ “ธนาคารออมสิน” ซึ่งล่าสุด (6 ธ.ค.) ได้เผยถึงความสำเร็จในเฟสแรก (ปี2565-2566) ของโครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม (Holistic Area-Based Development) ภายใต้ชื่อ “ออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน” ตอบโจทย์ความยั่งยืนผ่านการขับเคลื่อนชุมชน-สังคม ในพื้นที่จังหวัดน่าน
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยถึงความสำเร็จของโครงการดังกล่าวว่า ได้ดำเนินการตามแผนงานไปกว่า 90% ทั้งในมิติด้านส่งเสริมอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ มิติด้านแหล่งทุนและส่งเสริมการออม มิติสุขภาพและคุณภาพชีวิต ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการศึกษาและศาสนา รวมถึงมิติด้านยกระดับการท่องเที่ยว โดยธนาคารเตรียมเดินหน้างานเฟสที่ 2 ขยายผลสร้างการมีส่วนร่วม และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนมีความรู้ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
สร้างรง.แปรรูปกาแฟ
ช่วยเกษตรกรเพิ่มราคาขาย 10 เท่า
โดยความก้าวหน้าที่สำคัญของโครงการ คือ การส่งเสริมสร้างรายได้เพิ่มแก่ครัวเรือน โดยการก่อสร้างโรงแปรรูปผลผลิตกาแฟโดยความร่วมมือของธนาคารออมสินกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 100% ซึ่งต่อไปเกษตรกรจะสามารถใช้บริการโรงแปรรูปฯ นี้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มราคาขายผลิตผลกาแฟที่เก็บเกี่ยวได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า รวมถึงการส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนเริ่มกิจการโฮมสเตย์เพื่อเป็นรายได้เสริมในช่วงฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยมีผู้เริ่มทำโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย จากเดิมที่มีโฮมสเตย์เพียง 11 ราย สามารถสร้างรายได้เพิ่มนอกฤดูเกษตรกรรมให้ครัวเรือนได้มากขึ้นกว่าเท่าตัว
หนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ด้านส่งเสริมการออม ธนาคารได้สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนบ้านห้วยฟองให้เริ่มมีเงินออมเป็นครั้งแรก รวมถึงการจัดตั้งธนาคารโรงเรียนรูปแบบพิเศษเป็นแหล่งเงินออมของนักเรียนและครูของโรงเรียนบ้านห้วยฟอง และโรงเรียนบ้านเปียงซ้อ ด้วยระยะเวลาเพียง 8 เดือนชุมชนเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลแห่งนี้ สามารถมีเงินออมรวมกันกว่า 8 แสนบาท นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งแก่ชุมชน
ยังมีความคืบหน้าภารกิจมิติอื่น ๆ อาทิ การสนับสนุนการปรับปรุงระบบน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยติดตั้งถังกักเก็บน้ำขนาดใหญ่พร้อมระบบกรองน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค การติดตั้งระบบไฟฟ้าโซล่าร์ส่องสว่างในชุมชนและโรงเรียน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ จักรยานยนต์ พร้อมอาคารปฏิบัติงานแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงระบบอากาศมาตรฐานการแพทย์สำหรับคลินิคทันตกรรม และอุปกรณ์การแพทย์ห้องฉุกเฉิน เป็นต้น
และนี่คือ ความก้าวหน้าของโครงการออมสินฮ่วมใจ๋ฮักขุนน่าน โครงการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ธนาคารออมสินตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดโยงกับบริบทแวดล้อมของพื้นที่ มุ่งหวังสร้างคุณค่าร่วมตามกรอบแนวคิด CSV : Creating Shared Value ให้ธุรกิจเติบโต ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เกิดแก่ชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
เป็นอีก “Success Story” ของการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน ที่วัดผลเป็นรูปธรรมได้ แน่นอนว่าผู้บริโภคยังรอคอยอีกหลายธุรกิจ ออกมาประกาศความก้าวหน้าของแผนการดำเนินการด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) สะท้อนกลับมาที่การสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับองค์กรธุรกิจนั้น ที่ล้วนมีผู้บริโภคเป็นหลังอิง