รับมือฝุ่น-ควัน PM2.5 ปี 66-67 เปิดตัว “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” ดึงคู่ค้าผู้จัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เครือข่ายของบีพีเค ภาคเหนือ ตรวจระบบรับซื้อย้อนกลับต้นทางไร่ข้าวโพดไม่เผาตอซัง
ในงานเปิดตัวโครงการฯ “Partner to Green” คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” จังหวัดเชียงใหม่ องค์กรภาครัฐ และ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพี ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เชิญนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้ง ผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และคู่ค้าพันธมิตรในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ให้ความสำคัญสูงสุดหมอกควันแลทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลัง ในการจัดการสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 และโครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” เป็นความร่วมมือขององค์กรเอกชนที่นำเทคโลยีภาพถ่ายดาวเทียมในการตรวจจุดความร้อน เข้ามาช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในภาคการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจัดการปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายจัดการปัญหาฝุ่นควันในภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนของรัฐบาล และจังหวัดเชียงใหม่
“ปัญหาฝุ่นละออง เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและประชาสังคมผนึกกำลังลงมือทำอย่างจริงจัง อย่างที่บีเคพีริเริ่มโครงการเพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
ด้าน นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร บีเคพี กล่าวว่า บีเคพีเป็นบริษัทแรกของไทยที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2559 และเพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีเป็นต้นแบบอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงพ่อค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เข้ามาช่วยดูแลเกษตรกรและแปลงข้าวโพดในห่วงโซ่อุปทานของซีพี โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียม ช่วยลดปัญหาการเผาตอซัง
“บีเคพีจะขยายผลการดำเนินโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2566 นี้ โดยบริษัทฯ จะแบ่งปันข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจุดความร้อนในพื้นที่รับซื้อข้าวโพด เพื่อให้คู่ค้าเป็นเครือข่ายติดตามแปลงเพาะปลูกที่ยังมีการเผา หากพบว่าเกษตรกรรายใดมีการเผาแปลง ทางบริษัทและคู่ค้าพร้อมร่วมมือกันเข้าไปดูแล ให้ความรู้และคำแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรร่วมมืองดการเผาตอซัง และหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมทดแทน” นายไพศาล กล่าว
ภายในงาน บริษัทฯ ยังร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ และ GISTDA จัดอบรมสัมมนา ถึงสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. … และแนวทางการปรับตัวขององค์กรธุรกิจและภาคประชาชน ตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคู่กับระบบติดตามการเผาแปลง
โครงการ “Partner to Green คู่ค้าข้าวโพดพันธมิตร พิชิตหมอกควัน” เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของเครือซีพีในสร้างความร่วมมือระหว่างคู่ค้าของบริษัทฯ เพื่อร่วมจัดการกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาขีดความสามารถคู่ค้าพันธมิตรในกระบวนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อโลก และสนับสนุนเครือซีพีและบริษัทในเครือฯ ให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในปี 2050.