3 หน่วยงาน มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของไทย เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง นำมาสู่การลงนามความร่วมมือ ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดเสถียรภาพ และมีความมั่นคงต่อความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
โดยทั้ง 3 หน่วยงาน จะร่วมกันดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน พัฒนา และประยุกต์ใช้คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากร เครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลด้านน้ำให้ครอบคลุมครบถ้วนทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
นายวิชัย อัศรัสกร ประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า ความสำเร็จของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ของ สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมที่จะสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ที่จะขยายผลความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่อจากนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. กับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ได้ร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนรอบข้าง พร้อมทั้งได้ชักชวนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมกันลงมือทำเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม
ด้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำของ สสน. รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสมาชิกภาคอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.
ขณะที่มุมมองจากภาคเอกชน ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นำเสนอแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อส่งมอบโลกน่าอยู่และยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป ซึ่ง SCG เป็นตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ลงมือทำไปแล้ว พร้อมกับขอชวนเพื่อนภาคอุตสาหกรรมมาร่วมลงมือทำไปด้วยกัน
โดยการร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ “การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่” บทเวทีเสวนา “Action Together for a Better Thailand : เทิด ด้วย ทำ ประเทศไทย ยั่งยืน” ภายในงานมหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ร่วมด้วย โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมลงนาม