ประเทศสิงคโปร์ ต้นแบบของความแตกต่าง ที่ไม่แตกแยก

ประเทศสิงคโปร์ ต้นแบบของความแตกต่าง ที่ไม่แตกแยก


ประเทศสิงคโปร์: ต้นแบบการปกครองที่เน้นเรื่องของความหลากหลาย แต่ไม่แตกแยก จะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจได้อย่างไร

 

จากประเทศเล็ก ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน สู่ประเทศชั้นนำในภูมิภาค สิงคโปร์ถือหนึ่งเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดในเอเชีย มีความแข็งแกร่งในหลาย ๆ ด้าน พร้อมทั้งการพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในตลอด 58 ปีที่ผ่านมานี้

หนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของประเทศอาจมีส่วนมาจาก “ความหลากหลายของชาติพันธุ์” ในพื้นที่แห่งนี้ก็เป็นได้ วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับสิงคโปร์ ความเป็นมาของประเทศ และการอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในแบบฉบับของสิงคโปร์

ย้อนกลับไปในยุคอาณานิคมของอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้น พื้นที่เล็ก ๆ ทางตอนใต้ของมาเลเซียแห่งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างมากในการเป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจ ทั้งยังมีรัฐบาลอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของอาณานิคมในขณะนั้น เป็นผู้วางรากฐานการเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจ ทำให้สิงคโปร์ได้กลายเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมแห่งนี้ ดึงดูดผู้คนทั้งจากอินเดียและจีนให้หลั่งไหลเข้ามาแสวงหาอนาคตที่ดีกว่ากันถ้วนหน้า

ที่นี่จึงประกอบไปด้วยกลุ่มคนจาก 3 ชาติพันธุ์หลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวมาเลย์ที่เป็นคนพื้นถิ่นดั้งเดิม ชาวจีนที่ต่อมาได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และชาวอินเดียที่อพยพมาเช่นเดียวกัน

การอยู่ร่วมกันของผู้คนจากหลากหลายถิ่นฐานในยุคนั้น จะดำเนินไปภายใต้กฎหมายของอังกฤษ แต่ก็ยังเห็นความไม่ลงรอยกันของคนแต่ละกลุ่มอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงในด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ จนนำไปสู่เหตุการณ์น่าสลดครั้งที่ทำให้ผู้นำสิงคโปร์ในยุคนั้นต้องมีการตัดสินครั้งใหญ่

นั่นคือเหตุจลาจลระหว่างชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ และชาวจีน ในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1964 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 23 คน และบาดเจ็บมากถึง 454 คน การปะทะกันครั้งนี้ยังเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลในอีก 2 ครั้งถัดมาด้วย จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นำสิงคโปร์ในยุคนั้นเล็งเห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะการได้รับโอกาสในความคุ้มครองที่ไม่เท่าเทียมกัน นำไปสู่การดิ้นรนเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องตนเอง จนอาจก่อเกิดความวุ่นวายในชาติได้เพราะทุกคนไม่ได้มีจุดร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง

ต่อมาในปีค.ศ. 1965 ผู้นำของสิงคโปร์ได้ตัดสินใจแยกตัวออกมาจากมาเลเซีย และประกาศอิสรภาพให้กับประเทศสิงคโปร์ในที่สุด เนื่องจากมีอุดมการณ์ในเรื่องของการจัดการพหุวัตนธรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทางการของมาเลเซีย

โดยพรรคการเมือง UMNO ของมาเลเซียในขณะนั้นมีเป้าหมายที่จะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและรักษาศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียวไว้ในประเทศ แต่พรรคการเมือง PAP ของสิงคโปร์ มีเป้าหมายที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม เพราะผู้นำสิงคโปร์เชื่อว่าการจะพาประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ต้องขจัดความขัดแย้งออกไปให้ได้ก่อนและให้ความเคารพกับความแตกต่างของทุกคนเพื่อจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน

และไม่นานหลังที่ได้แยกตัวออกมาแล้ว ทางการสิงคโปร์ก็ได้ออกกฎหมายมามากมายเพื่อรับรองสวัสดิภาพของทุกชนชาติ และเสริมสร้างความสามัคคีและความเท่าเทียมกันอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสื่อสารหลักในการเชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน แต่ก็ยังคงให้เกียรติภาษามาเลย์เป็นภาษาประจำชาติ เพราะถือว่าเป็นภาษาท้องถิ่นดั้งเดิม

ด้านของผังเมืองก็มีหน่วยงาน HDB หรือ The Housing Development Board ที่เข้ามาช่วยดูแลการจัดสรรตึกที่อาศัยของประชาชน โดยมีข้อกำหนดให้ในตึกนั้นจะต้องมีผู้อาศัยที่คละเชื้อชาติกัน นอกจากนี้ยังสร้างพื้นที่ส่วนรวมใกล้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ฟิตเนส หรือพื้นที่สาธารณะสำหรับส่วนรวม เพื่อสร้างบรรยากาศให้ทุกคนคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายและเป็นเพื่อนกันได้ ไม่มีการแบ่งแยกกลุ่มชนชาติกัน

เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผู้คนเลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเอง และพวกเขาอาจจะได้เข้าร่วมวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตรุษจีนของชาวจีน วันฮารีรายอของชาวมุสลิม หรือวันดีปาวลีของอินเดีย

ทุกวันนี้ สิงคโปร์ยังคงความกลมเกลียวกันระหว่างเชื้อชาติกันอย่างเหนียวแน่น หากได้มีโอกาสไปเที่ยวที่สิงคโปร์ คุณก็จะได้เห็นพื้นที่ชุมชนที่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นย่าน กาตง จูเชียต ของชาวเปอรานากันหรือกลุ่มชาวจีนเชื้อสายมาลายู ย่านลิตเติ้ลอินเดียที่ชาวอินเดียกลุ่มแรกได้เข้ามาตั้งรกรากกันในพื้นที่นี้ หรือย่านของคนท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างชาวมาเลย์ในย่านที่ชื่อว่ากัมปงกลาม ที่ถือว่าเป็นที่อยู่บรรพบุรุษสุลต่านของพวกเขาเมื่อนานมาแล้วก่อนที่ดินแดนสิงคโปร์จะกลายเป็นเมื่อขึ้น และแม้ว่าภาษาอังกฤษจะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน แต่รากเหง้าเดิมก็ยังคงไม่ไปไหน อย่างที่พบเจอได้ในภาษา Singlish หรือภาษาอังกฤษแบบสิงคโปร์ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บ่งบอกถึงเรื่องราววิวัฒนาการทางภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และสังคมในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่า การที่ผู้นำของสิงคโปร์เลือกที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนภายในชาตินั้น สุดท้ายแล้วนำไปสู่โอกาสทางการเมืองและเศรษฐกิจมากมาย เปลี่ยนให้ประเทศที่มีอายุได้ไม่นานกลายเป็นมหาอำนาจในย่านอาเซียน ทั้งยังสามารถรักษาความยึดมั่นในชาติไว้ได้อีกด้วย สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจากที่ไหน ก็ต้องการที่จะรับโอกาส ได้รับการยอมรับจากสังคมทั้งนั้น และเมื่อสังคมได้มอบความสำคัญให้กับเขาแล้ว เขาเองก็ยินดีที่จะให้ความสำคัญกลับมาเช่นเดียวกัน เหมือนกับประเทศสิงคโปร์นั่นเอง

 

ที่มา:
https://www.sg101.gov.sg/social-national-identity/multicultural/
https://www.longtunman.com/28759
https://www.visitsingapore.com/editorials/a-kaleidoscope-of-cultures/