จะเกิดอะไรขึ้นหากเราสามารถนำเทคโนโลยีที่มีมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกอย่างด้าน Climate change ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีผสานกับความใส่ใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมนี้
การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยีนั้น ช่วยให้เกิดผลดีในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้คงเป็นเรื่องของ Climate change ซึ่งเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเราจะวัด ‘ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบวกกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น
ปัจจุบันนี้ได้มีซอฟท์แวร์ด้านการจัดการคาร์บอนซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ
สามารถตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานได้ทันที ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากวิธีการจัดการคาร์บอนแบบดั้งเดิม ซึ่งดำเนินการโดยการตรวจสอบข้อมูลที่มีพื้นฐานมาจากการคำนวณ การเปิดตัวซอฟต์แวร์การจัดการคาร์บอนถือเป็นการตอบโจทย์ในด้านของการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนอีกทางเลือกหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยนั้นองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้จัดทำข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรขึ้นซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO 14064-1(2018), GHG Protocol (2001, 2004) และตัวอย่างบางส่วนจาก ISO/TR 14069 (2013) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
โดยแบ่งกิจกรรมที่มีการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานขององค์กรไว้ 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร (SCOPE I) ได้แก่
การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่อยู่กับที่ เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือเช่าเหมามาแต่องค์กรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น Boiler, Burner, Kiln, Diesel Generator, Diesel Fire Pump, การหุงต้มอาหารภายในองค์กร ชุดตัดแบบใช้แก๊ส หรือ การเผาขยะ/ของเสีย เป็นต้น
การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเผาไหม้ของยานพาหนะต่าง ๆ อุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่เคลื่อนที่ได้ เป็นต้น
การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต เช่น ปฏิกิริยาเคมีภายในกระบวนการผลิต กระบวนการ Calcinations ของการผลิตปูนซีเมนต์
การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหล และอื่น ๆ เช่น การรั่วไหลของสารทำความเย็นจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะทำการซ่อมบำรุง การรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์เฮ็กซาฟลูโอไรด์ (SF6) จากSwitchgear การใช้ถังดับเพลิง ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียและหลุมฝังกลบ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้ปุ๋ย หรือสารเคมีทำความสะอาด
การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกโดยตรงของชีวมวล (ดินและป่าไม้) คือ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่ปศุสัตว์หรือพื้นที่เกษตรกรรม หรือจากพื้นที่ชุ่มน้ำไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
ประเภทที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (SCOPE II) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร เช่น พลังงานไฟฟ้า ความร้อน ความเย็น ไอน้ำ เป็นต้น
ประเภทที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (SCOPE III) เป็นการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ เป็นต้น
เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน บริษัทต่าง ๆ ที่แสดงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดให้มีการลงทุนมากขึ้น เป็นสิ่งจูงใจทางการเงินสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการนำซอฟต์แวร์การจัดการคาร์บอนมาใช้ และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ภายในองค์กรต่อไป อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนมากยื่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.knowesg.com/tech/carbon-softwares-impact-on-tech-03082023
https://petromat.org/home/carbon-footprint-of-organization/