ไบโอเทค สวทช. ร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการนำความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยรวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เข้าหนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ งานวิจัยที่พัฒนาจนแล้วเสร็จในช่วงปีที่ผ่านมา คือ “โปรแกรมวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์” โดยทีมวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT)
“ละองหรือละมั่ง (Eld’s deer)” เป็นสัตว์พื้นเมืองของไทย จัดอยู่ในวงศ์กวาง (Cervidae) เป็นกวางขนาดกลาง มีขนตามลำตัวสีน้ำตาลอมแดงไปจนถึงน้ำตาลเข้ม ตัวผู้มีเขาโค้งยาวเรียกว่า “ละอง” ส่วนตัวเมียไม่มีเขาเรียกว่า “ละมั่ง” แต่โดยทั่วไปแล้วมักมีการเรียกสัตว์ชนิดนี้รวมทั้งเพศผู้และเมียด้วยชื่อเดียวกันว่า “ละมั่ง” ทั้งนี้ละมั่งมี 3 ชนิดย่อย คือ พันธุ์อินเดีย (Rucervus eldii eldii) พันธุ์เมียนมา (Rucervus eldii thamin) และพันธุ์ไทย (Rucervus eldii siamensis) แต่ปัจจุบันด้วยปัญหาการลดลงของที่อยู่อาศัยประกอบกับการล่าเพื่อนำเขาละมั่งมาจำหน่าย ทำให้สถานภาพของละมั่งสายพันธุ์ไทยอยู่ในสถานการณ์วิกฤต IUCN จัดให้เป็นสิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และ CITES จัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) และความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาโปรแกรมช่วย “วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์” หนุนลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม โดยเริ่มเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์ “ละมั่งพันธุ์ไทย” แล้ว
พัฒนา “โปรแกรมการเลือกคู่” ฟื้นฟูประชากร “ละมั่งไทย”
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) สวทช. อธิบายว่า ในอดีตละมั่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว แต่ด้วยการเพาะเลี้ยงและนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จ ประกอบกับการเลี้ยงละมั่งในกรงเลี้ยงโดยการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ปัจจุบันในไทยยังคงมีละมั่งทั้งพันธุ์ไทย และลูกผสมพันธุ์ไทยและพันธุ์เมียนมา อาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรละมั่งพันธุ์ไทยที่เหลือน้อยในระดับวิกฤต ผู้ดูแลจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเรื่องการผสมพันธุ์ เพื่อไม่ให้เกิดการผสมในเครือญาติใกล้ชิด หรือเลือดชิด (Inbreeding) เพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการจับเข้าคู่ของยีนด้อย ซึ่งจะทำให้ละมั่งอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น
“เพื่อฟื้นฟูประชากรละมั่งพันธุ์ไทยให้กลับมามีสถานภาพปกติอีกครั้ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ละมั่งพันธุ์ไทยที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ โดยร่วมมือกับศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center: NOC) สวทช. ในการถอดรหัสพันธุกรรมของละมั่งในประเทศ และร่วมกับทีมวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของละมั่งมาวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์จากความห่างของสายพันธุกรรม”
ดร.พงศกร วังคำแหง นักวิจัยธนาคารข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ NBT สวทช. อธิบายถึงกลไกการทำงานของโปรแกรมว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์จับคู่รหัสพันธุกรรม (Genotype) ของสิ่งมีชีวิตประมาณ 30,000 ตำแหน่ง แบบเมทริกซ์ (Matrix) หรือการจับคู่ผสมพันธุ์แบบพบกันทุกตัว เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม เพื่อใช้คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการผสมในเครือญาติใกล้ชิดได้ โดยโปรแกรมนี้จะแสดงผลข้อมูลการจับคู่ให้เห็นเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย เพื่อให้ผู้ดำเนินงานด้านการขยายพันธุ์นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ต่อสะดวก ซึ่งปัจจุบัน NBT ได้พัฒนาโปรแกรมจนเสร็จสิ้นและส่งมอบชุดข้อมูลผลวิเคราะห์การจับคู่ละมั่งพันธุ์ไทยในประเทศให้แก่ผู้ดำเนินงานด้านการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และมีแผนการที่จะใช้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ ในอนาคตด้วย
“ทั้งนี้นอกจากการวิเคราะห์ความห่างของรหัสพันธุกรรมแล้ว โปรแกรมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ยังสามารถตอบโจทย์การดำเนินงานด้านอนุรักษ์ได้อีก 2 ด้าน ด้านแรกคือ “การวิเคราะห์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นพันธุ์แท้หรือลูกผสม” สำหรับใช้ยืนยันจำนวนประชากรและวางแผนการอนุรักษ์ตามสายพันธุ์ และด้านที่สองคือ “การสืบย้อนหาเครือญาติของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สามารถวิเคราะห์ความเชื่อมโยงได้ถึง 3 รุ่น (Generations) ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลสายพันธุกรรม (Pedigree) และการสังเกตลักษณะเด่นและด้อยที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น (ที่ปรากฏให้เห็น) เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนผสมพันธุ์รุ่นต่อไป”
หลังจากนี้ NBT มีแผนดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมนี้จะไม่เพียงมีส่วนสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ในไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย พร้อมกันนี้ NBT ยังเตรียมจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของสัตว์ในการดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เพื่อสำรองไว้ใช้ในการฟื้นคืนความหลากหลายในอนาคตหากต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติด้วย” ดร.พงศกร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
H&M Group ลงทุนใน Kintra Fibers เพื่อสร้างอนาคตแฟชั่นที่หมุนเวียนมากขึ้น
https://www.thaiquote.org/content/250436
ออมบุญวันละ 1 บาท สร้าง “ล้อมแรด” เข้มแข็ง
https://www.thaiquote.org/content/250434
ฟางไทย แฟคทอรี่ จากการต่อยอดอาชีพบรรพบุรุษสู่ธุรกิจเพื่อสังคมแบบคนรุ่นใหม่
https://www.thaiquote.org/content/250429