“จิงจ้อภาชี” เป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มวงศ์ผักบุ้ง มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษ Aryreia suddeeana Traiperm&Staples
โดยจัดอยู่ในวงศ์ : CONVOLVULACEAE
ในเดือนตุลาคม 2551 ดร.สมราน สุดดี ขณะดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะทำงาน เป็นผู้เก็บตัวอย่างจิงจ้อภาชีครั้งแรก หลังจากนั้น 6 ปีต่อมา รศ. ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Dr. George William Staples นักพฤกษศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ผักบุ้ง ได้ทำการตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa ปีที่ 164 ฉบับที่ 4 หน้า 281 โดยใช้คำระบุชนิด “suddeeana”เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.สมราน สุดดี และส่วนของชื่อไทยได้ตั้งตามสถานที่พบครั้งแรก บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น จิงจ้อสวนผึ้ง จิงจ้อสุดดี
จิงจ้อภาชีเป็นไม้เถา ยาว 1.5-8 ม. ลำต้นทรงกระบอก ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 1.5-5.5 ซม. ยาว 6-15 ซม. ปลายแหลมหรือมน ปลายสุดเป็นติ่งหนาม โคนมน ตัด หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบมีขนทั้ง 2 ด้าน เมื่อแห้งหนาคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายยอด ใบประดับสีเขียวอ่อนปนชมพู กลีบเลี้ยงรูปรีถึงรูปรีกว้าง กลีบดอกรูประฆัง กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 4.5-6 ซม. สีชมพูอมม่วง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ผลรูปทรงกลม
จิงจ้อภาชี เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามเขาในป่าเต็งรังเปิดโล่งผสมไผ่ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 190-250 ม. มีรายงานการพบบริเวณใกล้กับหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยม่วง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี ออกดอกเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นผลเดือนตุลาคม
เอกสารอ้างอิง :
อนุกรมวิธานพืช อักษร ฆ-จ ฉบับราชบัณฑิตยสภา. ๒๕๕๙. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, กรุงเทพฯ. ๓๘๘ หน้า.
Traiperm, P. & Staples, G. W. (2014). A new endemic Thai species of Argyreia (Convolvulaceae). Phytotaxa 164(4): 281-285.
ที่มา: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
การแบ่งแยกในชนบทกับในเมือง: เหตุใดการคุ้มครองหมาป่าจึงกลายเป็นเรื่องการเมืองในยุโรป
https://www.thaiquote.org/content/250284
ถ้าโลกยังร้อนอยู่ ‘สัตว์กินพืช’ มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น
https://www.thaiquote.org/content/250272
สิงโตที่ ‘แก่ที่สุดในโลก’ ตัวหนึ่งถูกฆ่าในแอฟริกาเหตุเกิดจากภัยแล้ง สร้างความขัดแย้งกับมนุษย์
https://www.thaiquote.org/content/250262