‘สกอตแลนด์’ เปิดตัวนวัตกรรม ‘บ้านพลังงานไฮโดรเจน’ แห่งแรก นำร่องสู่อนาคต สังคมไร้คาร์บอน

‘สกอตแลนด์’ เปิดตัวนวัตกรรม ‘บ้านพลังงานไฮโดรเจน’ แห่งแรก นำร่องสู่อนาคต สังคมไร้คาร์บอน

ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง การค้นหาทางเลือกพลังงานสะอาดสำหรับที่อยู่อาศัยกลายเป็นความท้าทายสำคัญของโลก ล่าสุด สกอตแลนด์ได้ก้าวสำคัญด้วยการเปิดตัวบ้านพลังงานไฮโดรเจนแห่งแรก ที่สามารถให้ความร้อนและทำอาหารได้โดยไม่ปล่อยคาร์บอน นับเป็นก้าวย่างสู่อนาคตของที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

Cr. ภาพ : www.euronews.com

 

จอห์น สวินนีย์ มุขมนตรีสกอตแลนด์ ร่วมในงานเปิดตัวบ้านพลังงานไฮโดรเจนแห่งนี้ พร้อมระบุว่า “บ้านเหล่านี้ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้เห็นว่าไฮโดรเจนมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความอบอุ่นและความสะดวกสบายให้กับบ้านโดยไม่ปล่อยคาร์บอนเลย ผมรู้สึกยินดีกับก้าวสำคัญนี้ในโครงการนี้และหวังว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์”

บ้านสาธิตทั้ง 3 หลังตั้งอยู่ในเมืองเลเวนมัธ บนชายฝั่งตะวันออกของไฟฟ์ แสดงให้เห็นว่าไฮโดรเจนสามารถให้ความร้อนและทำอาหารได้คล้ายกับก๊าซธรรมชาติมาก แต่ต่างที่พลังงานไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยคาร์บอนเลย

Cr. ภาพ : www.euronews.com

 

บ้านไฮโดรเจนคืออะไร และทำงานอย่างไร?

 

การให้ความร้อนเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 22 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสหราชอาณาจักรไฮโดรเจนถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการลดคาร์บอนในภาคส่วนนี้

การเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานไฮโดรเจนต้องใช้เครื่องใช้ภายในบ้านแบบใหม่ รวมถึงเตาทำอาหารและหม้อต้ม บ๊อชเปิดตัวเตาทำอาหารไฮโดรเจนเครื่องแรกซึ่งโดดเด่นด้วย “เปลวไฟที่มองไม่เห็น” โดยจะทำการทดสอบในบ้านที่โครงการ H100 Fife

สำหรับผู้อยู่อาศัย บ้านที่ใช้ไฮโดรเจนมีความแตกต่างจากบ้านทั่วไปเพียงเล็กน้อยเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานในลักษณะเดียวกัน โดยการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ฝั่งซัพพลายเออร์ ดังนั้น จึงถือเป็นวิธีลดคาร์บอนในการทำความร้อนในบ้านที่รบกวนน้อยที่สุดวิธีหนึ่ง

 

วางแผนนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในบ้านเรือนทั่วยุโรป

 

สำหรับความท้าทายด้านพลังงานไฮโดรเจนในยุโรป เขาได้วางแผนพลังงานไฮโดรเจนไว้อย่างชัดเจนผ่านกลยุทธ์ REPowerEU โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องมีไฮโดรเจนในระบบรวม 20 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้า 10 ล้านตัน และผลิตเองอีก 10 ล้านตัน เพื่อให้ภายในปี 2050 ไฮโดรเจนจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ตอบสนองความต้องการได้ถึง 10% ของทั้งภูมิภาค

จากนโยบายสู่ความเป็นจริง

แม้จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่การนำไฮโดรเจนมาใช้ในระดับครัวเรือนยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น มีเพียงไม่กี่โครงการนำร่องที่เริ่มดำเนินการ

 

อิตาลี: เป็นผู้บุกเบิกด้วยการสร้างอาคารเรียนพลังงานไฮโดรเจนแห่งแรกของยุโรปในปี 2022 ที่เมืองเบเนเวนโต ใช้ไฮโดรเจนทั้งผลิตไฟฟ้าและให้ความร้อน

เนเธอร์แลนด์: มีโครงการนำร่องหลายแห่ง

เมืองโลเชม: บ้าน 12 หลังใช้ไฮโดรเจนให้ความร้อน (2022)

เมืองวาเกนบอร์เกน: บ้าน 33 หลังเปลี่ยนมาใช้ระบบทำความร้อนด้วยไฮโดรเจน (2023)

เมืองโฮเกวีน: เตรียมเชื่อมต่อบ้านใหม่ 80-100 หลังเข้ากับเครือข่ายไฮโดรเจน

ฟินแลนด์: กำลังสร้างศูนย์ 3H2 Helsinki Hydrogen Hub ที่จะผลิตไฮโดรเจนสีเขียว 3 เมกะวัตต์ต่อปี โดยจะใช้เป็นเชื้อเพลิงรถบรรทุกและนำความร้อนส่วนเกินไปใช้กับบ้านเรือนในพื้นที่

โครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้เทคโนโลยีบ้านพลังงานไฮโดรเจนจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ยุโรปกำลังค่อยๆ ก้าวไปสู่เป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดในภาคที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

 

 

ไฮโดรเจนไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

 

ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดเมื่อใช้งานไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกเผาไหม้ ซึ่งแตกต่างจากถ่านหิน อย่างไรก็ตาม ไฮโดรเจนไม่ได้ดีทั้งหมด “ไฮโดรเจนสีเทา” (Grey hydrogen) คือไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในกระบวนการผลิตยังมีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เนื่องด้วยมีต้นทุนต่ำที่สุดทำให้มีสัดส่วนสูงถึง 95% ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ทั่วโลกในปัจจุบัน

ขณะที่ “ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน” (Blue hydrogen) มีการผลิตคล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา แต่ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้พื้นดิน แทนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จึงถือว่าไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา แต่ก็แลกด้วยราคาที่สูงกว่า

การผลิตไฮโดรเจนใช้กระบวนการอิเล็กโทรไลซิสเพื่อแยกไฮโดรเจนออกจากออกซิเจนในน้ำ หากไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการนี้ไม่สามารถหมุนเวียนได้ ประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็จะไร้ค่า

ปัจจุบัน ไฮโดรเจนคิดเป็นประมาณ 2% ของพลังงานรวมของสหภาพยุโรป และเกือบทั้งหมดผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรัฐสภายุโรปประมาณการว่ามีการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 70 ถึง 100 ล้านตันต่อปีจากแหล่งผลิตไฮโดรเจนในปัจจุบัน

 

เพื่อให้ไฮโดรเจนสามารถผลิตได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องทำกระบวนการอิเล็กโทรไลซิสโดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเรียกว่า ไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) ไฮโดรเจนชนิดนี้เป็นไฮโดรเจนเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้นที่สามารถผลิตได้อย่างยั่งยืน แต่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของปริมาณการผลิตไฮโดรเจนทั้งหมดในปัจจุบัน

ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่จำเป็นในการผลิตไฮโดรเจนทั้งหมดให้เป็นพลังงานสีเขียวจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการไฟฟ้าของยุโรปทั้งหมด แต่สำหรับ H100 Fife แหล่งผลิตไฮโดรเจนถูกผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งในพื้นที่

 

 

แม้บ้านพลังงานไฮโดรเจนจะเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ความท้าทายด้านต้นทุน ความปลอดภัย และประสิทธิภาพการใช้งาน ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการนำร่องในสกอตแลนด์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการทดสอบศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจนในภาคที่อยู่อาศัย และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่บ้านพลังงานสะอาดในอนาคต

 

ที่มา: Euro News, SGN

https://www.euronews.com/green/2025/02/09/hydrogen-homes-are-being-built-around-europe-but-does-the-renewable-fuel-cut-your-heating-