6 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากกลุ่มพันธมิตรธนาคารที่มีเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Banking Alliance: NZBA) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UN) ในช่วง 1 เดือนก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยประกาศในช่วงหาเสียงว่าจะยกเลิกนโยบายทั้งหมดเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG)
ทรัมป์ ยกเลิกนโยบาย ลดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
วันแรกหลังพิธีสาบานตน (20 ม.ค. 2568) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีถอนตัวจากข้อตกลงปารีสทันที และยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งหมด
สำหรับกลุ่มธนาคารที่มีเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Banking Alliance: NZBA) เป็นกลุ่มที่ได้ให้คำมั่นว่าจะปรับกิจกรรมการให้สินเชื่อ การลงทุน และตลาดทุน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือเร็วกว่านั้น
ทั้งนี้ การเข้ามาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้สถาบันการเงินต้องลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยในช่วงก่อนนายโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ได้มีการฟ้องศาลและเสนอกฎหมายต่อต้าน ESG ว่านโยบายลด GHG ของสถาบันการเงินเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดขวางการดำเนินธุรกิจอย่างเสรีของอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา โดยรัฐที่มีการฟ้องร้องหรือมีการออกกฎหมายต่อต้าน ESG มีจำนวน 22 รัฐ ทำให้สถาบันการเงินชั้นนำมองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการฟ้องร้องมากขึ้นหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2568-2572)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน NZBA ยังคงมีธนาคาร 141 แห่งเป็นสมาชิก ซึ่งรวมถึงธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปทั้งหมดนักวิเคราะห์มองว่า การถอนตัวดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะป้องกันตัวเองจากการโจมตีของนักการเมืองฝ่ายขวาสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหลังทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของประเทศในวันที่ 20 มกราคมนี้
ผลกระทบที่สำคัญต่อสถาบันการเงินทั่วโลก
การถอนตัวจากกลุ่มธนาคาร Net Zero ของ 6 ธนาคารยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ได้แก่ Citigroup, Bank of America, Morgan Stanley, Wells Fargo, Goldman Sachs และ JPMorgan ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเงินสีเขียวโลก เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นผู้ให้สินเชื่อรายใหญ่ในโครงการพลังงานสะอาดทั่วโลก การถอนตัวครั้งนี้อาจทำให้การระดมทุนเพื่อโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาดชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส
ผลกระทบที่สำคัญอีกประการคือการส่งสัญญาณถึงสถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดการทบทวนนโยบายด้านการเงินสีเขียวและการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะในประเทศที่มีแนวโน้มทางการเมืองที่ต่อต้านนโยบาย ESG นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการเงินสีเขียวที่อาจลดลง
โดยธนาคารหลายแห่งนอกสหรัฐฯ กำลังพิจารณาถอนตัวเช่นกัน โดยธนาคารในแคนาดา 5 แห่งได้ประกาศถอนตัวจาก NZBA (Net Zero Banking Alliance) หลังจากวันพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่นเดียวกับธนาคารในยุโรปก็กำลังพิจารณาถอนตัวจาก NZBA เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ธนาคารที่ออกจากกลุ่ม NZBA จะยังคงสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายลด GHG เหมือนเดิม แต่อาจมีการปรับปรุงกลยุทธ์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของลูกค้า ซึ่งล้วนมีบริบทที่แตกต่างกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2564 ธนาคาร 6 แห่งในสหรัฐฯ มีการสนับสนุนทางด้านการเงินสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะยังคงให้การสนับสนุนต่อ
ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิก NZBA ที่เหลือถือว่ายังเป็นส่วนสำคัญของภาคการธนาคารทั่วโลก โดยควบคุมสินทรัพย์ธนาคารทั่วโลกประมาณ 40% หรือ 64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นอิทธิพลอันสำคัญนี้ไม่สามารถมองข้ามได้ และสมาชิก NZBA ก็สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ Net Zero ได้
ธนาคารไทยได้รับผลกระทบหรือไม่ และต้องรับมืออย่างไร
สำหรับประเทศไทย แม้ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่ม NZBA เหมือนสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศ แต่ธนาคารไทยส่วนใหญ่ยังคงผูกพันกับพันธกิจด้านความยั่งยืนผ่านกรอบการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวทาง Sustainable Banking ของสมาคมธนาคารไทย คือดำเนินนโยบายตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ซึ่งประเทศไทยมีแผนลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับสหประชาติว่าจะลด GHG 40% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065)
โดยนับตั้งแต่ปี 2565 ธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่งในไทย มีการตั้งเป้าหมายการลด GHG ที่สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว และมีการดำเนินการในแนวทางที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของตนเอง เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการให้สินเชื่อ รวมไปถึงการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ลูกค้าตามการปล่อย GHG ในแต่ละอุตสาหกรรม
อีกทั้งการเงินสีเขียวในไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น แผนพัฒนาตลาดทุนความยั่งยืน และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยควรเตรียมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านการระดมทุนระหว่างประเทศและการร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ ธนาคารควรพิจารณาเพิ่มความร่วมมือกับสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชีย พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่ตอบโจทย์ตลาดในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนผ่านการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐาน
อ้างอิง