วิกฤติปลาทูไทย! กฎหมาย ม.69 ฉบับใหม่ กระทบประมง-ท้าทายความยั่งยืน

วิกฤติปลาทูไทย! กฎหมาย ม.69 ฉบับใหม่ กระทบประมง-ท้าทายความยั่งยืน

ปลาทูไทย สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ และเป็นที่นิยมบริโภค ทว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาทูในน่านน้ำไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมประมง พบว่าผลผลิตปลาทูจากการประมงพาณิชย์ลดลงกว่า 50% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

ปลาทูเป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่คนไทยนิยมบริโภคมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันประชากรปลาทูในน่านน้ำไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือจับปลาที่ไม่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะการจับปลาทูวัยอ่อนก่อนที่มันจะเติบโตและวางไข่ ส่งผลให้จำนวนปลาทูลดลงจนเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบางพื้นที่

จากข้อมูลของกรมประมง ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยลดลงจากกว่า 100,000 ตันต่อปีในอดีต เหลือเพียงประมาณ 20,000-30,000 ตันในปัจจุบัน หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง เศรษฐกิจท้องถิ่น และความมั่นคงทางอาหารของประชาชน

 

-ตามเข้งในท้องตลาด ปลาทูจริงหรือ ?

ในตลาดบ้านเรา หลายครั้งที่ปลาซึ่งขายในชื่อ “ปลาทู” อาจไม่ใช่ปลาทูแท้ๆ แต่เป็นปลาชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ปลาลังและปลาทูแขก ซึ่งทั้งสองชนิดมักถูกนำมาจำหน่ายแทนปลาทูเนื่องจากมีหน้าตาคล้ายกัน โปรตีนสูงและมีไขมันดีเหมือนกัน และมีราคาถูกกว่า

  • ปลาลังจะตัวเรียวยาว หัวใหญ่ ตาโต และมีแถบสีเขียวปนน้ำตาลที่หลัง เนื้อจะหยาบกว่า และมีมันน้อย รสชาติเลยไม่หวานมันเท่าปลาทูแท้
    ขนาดเล็กกว่าปลาลัง หัวแหลมเป็นสามเหลี่ยม ตาโต และมีจุดสีดำใต้ครีบหลัง เนื้อปลาทูแขกก็ค่อนข้างหยาบ มันน้อย และรสชาติไม่อร่อยเท่าปลาทูจริง
  • ปลาทูแขกจะตัวเรียวยาว หัวใหญ่ ตาโต และมีแถบสีเขียวปนน้ำตาลที่หลัง เนื้อจะหยาบกว่า และมีมันน้อย รสชาติเลยไม่หวานมันเท่าปลาทูแท้
    ขนาดเล็กกว่าปลาลัง หัวแหลมเป็นสามเหลี่ยม ตาโต และมีจุดสีดำใต้ครีบหลัง เนื้อปลาทูแขกก็ค่อนข้างหยาบ มันน้อย และรสชาติไม่อร่อยเท่าปลาทูจริง

ถึงแม้ปลาทูแท้จะยังเป็นที่นิยมที่สุด แต่ช่วงไหนที่ปลาทูน้อย ราคาก็พุ่งสูงขึ้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหันไปขายปลาลังหรือปลาทูแขกแทน เพราะหาง่ายกว่าและราคาถูกกว่า แม้ว่าปลาเหล่านี้จะมีโปรตีนสูงและมีไขมันดีเหมือนกัน แต่เรื่องรสชาติและเนื้อสัมผัสยังสู้ปลาทูแท้ไม่ได้ เลยทำให้ปลาทูแท้ยังคงเป็นที่ต้องการมากในตลาด

-มาตรา 69 แก้ใหม่ อนุญาตให้อวนตามุ้ง?

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติแก้ไข ของ พ.ร.บ.ประมงมาตรา 69 ฉบับใหม่ 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ ยกเลิกมาตรการคุ้มครองแรงงาน อนุญาตอวนล้อมจับด้วยอวนตามุ้งขนาดตาน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรได้ และอนุญาตให้ขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลได้

ในการลงมติแก้ไข มีผู้เห็นด้วย 239 คน ไม่เห็นด้วย 28 คน งดออกเสียง 114 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 383 คน

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวล โดยเฉพาะ กลุ่มประมงพื้นบ้านและนักอนุรักษ์ เพราะอวนตาถี่สามารถจับสัตว์น้ำวัยอ่อนได้มากขึ้น เช่น ลูกปลาทู ปลาหลังเขียว และปลาอินทรี ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

นอกจากจะกระทบกับปริมาณสัตว์น้ำในอนาคตแล้ว ยังอาจ ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เพราะหากสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับไปหมด ก็อาจทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงเรื่อย ๆ และกระทบต่ออาชีพประมงในระยะยาว

 

-เป้าหมาย SDG 14
SDG 14 เน้นให้เราปกป้องและดูแลทะเลให้สมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะ (14.2) ที่เน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และ (14.4) ที่เรียกร้องให้ยุติการทำประมงเกินขนาดและการประมงผิดกฎหมาย แต่การแก้ไขมาตรา 69 ที่อนุญาตให้อวนตามุ้งจับสัตว์น้ำวัยอ่อน อาจทำให้ไทยไปไม่ถึงเป้าหมายนี้หรือไม่?

-ไทม์ไลน์การคัดค้าน

  • 25 ธันวาคม 2567 : สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบการแก้ไขมาตรา 69 อนุญาตให้ใช้อวนตาถี่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรล้อมจับสัตว์น้ำในตอนกลางคืนในระยะมากกว่า 12 ไมล์ทะเล
  • 4 มกราคม 2568 : ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ประกาศว่ากลุ่มประมงพื้นบ้านจะรวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ทบทวนและยกเลิกการแก้ไขมาตรา 69
  • 8 มกราคม 2568: ตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเดินทางเข้าพบสมาชิกวุฒิสภา เพื่อทำความเข้าใจและเรียกร้องให้ตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาทบทวนมาตรา 69
  • 13 มกราคม 2568 : เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านและสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจาก 22 จังหวัด รวมถึงสมาคมภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สมาคมนักตกปลา นักดำน้ำ และเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมตัวกว่า 500 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนมาตรา
  • 26 มกราคม 2568 : เหล่านักรบผ้าถุงและชาวประมงท้องถิ่น เดินทางนับพันกิโลจากทะเลมุ่งหน้าสู่กลางเมืองกรุงเทพฯ เพื่อตามหาใครขโมยปลาผ่านศิลปะบนผืนผ้าและร่วมส่งเสียงถึงคนไทยทุกคน

สถานการณ์ล่าสุด ขณะนี้ การแก้ไขกฎหมายยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านยังคงกดดันให้มีการทบทวนหรือยกเลิกการแก้ไข เพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเลของไทย ก่อนที่ปลาทูและอาหารทะเลนั้นจะเหลือแค่ในตำราอาหาร

 

-หากไปต่อ ไทยเสี่ยงโดนแบน

ในปี 2558 สหภาพยุโรป (EU) เคยให้ใบเหลืองไทย เพราะปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) จนรัฐบาลต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ กำหนดกฎหมายเข้มงวด และในปี 2562 ก็ปลดใบเหลืองสำเร็จ แต่ตอนนี้ สถานการณ์อาจกลับมาวิกฤติอีกครั้ง

การแก้กฎหมายประมงล่าสุด เช่น การอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำกลางคืน (มาตรา 69) และการยกเลิกข้อจำกัดเรื่องขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล รวมถึงแรงงานบนเรือ ทำให้ EU เริ่มจับตาไทยอีกครั้ง เพราะอาจกระทบมาตรฐานการทำประมง และส่งผลต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่กำลังดำเนินอยู่ หากไทยถูกตัดสินว่าละเมิดหลัก IUU Fishing อาจโดน “ใบเหลือง” อีกครั้ง หรือแย่กว่านั้นคือ “ใบแดง” ซึ่งหมายถึงการแบนส่งออกอาหารทะเลไป EU ทั้งหมด

ผลกระทบไม่ใช่แค่เรื่องส่งออก เพราะปี 2566 ไทยขายอาหารทะเลให้ EU กว่า 20,000 ล้านบาท ถ้าถูกแบน อาจโดนกดดันจากตลาดใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นด้วย ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมประมง และภาพลักษณ์ไทยในตลาดโลก

ที่สำคัญ การใช้เครื่องมือประมงที่กวาดเอาสัตว์น้ำเล็กๆ ไปหมด อาจทำลายสมดุลระบบนิเวศในทะเล ลูกปลา สาหร่าย แพลงก์ตอน ที่ควรเติบโตเป็นอาหารให้ปลาใหญ่ หรือเป็นแหล่งวางไข่ อาจถูกทำลายจนไม่เหลือให้ฟื้นตัว หากเดินหน้านโยบายนี้ ไทยอาจไม่ได้เสียแค่ตลาดส่งออก แต่อาจต้องแลกด้วยอนาคตของท้องทะเล

 

ที่มารูปภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

อ้างอิง : 1. ปลาทู ปลาลัง ปลาทูปากจิ้งจก และปลาทูแขก -ภูเก็ต อควาเรียม

                2. วิกฤตปลาทูไทยใกล้หมดทะเล -The Active

                3. ประมงเสี่ยงเจอ IUU – policywatch