เปิดตัวระบบ SET Carbon เครื่องมือวัดคาร์บอนฯให้ภาคธุรกิจไทยฟรี หวังช่วยลดต้นทุน เครื่องมือวัดความดีเพิ่มความน่าเชื่อถือเพื่อเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว กระตุ้นซื้อขายคาร์บอนเครดิต รับมือ พ.ร.บ.Climate Change ดันเข้าครม.คาดว่าคลอดพร้อมบังคับใช้ปี 2569นี้
แม้การวัดผลการติดตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) ยังเป็นภาคสมัครใจ แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการจัดการข้อมูลการวัดผล เพราะมีอุปสรรคในการจัดทำข้อมูล จากราคาต้นทุนสูง มีค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักแสนบาท ขาดเครื่องมือและเทคโนโลยี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีศักยภพาพในการลงทุนเครื่องมือและเทคโนโลยีในการวัดผลการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจยังขาดเครื่องมือในการวัดผลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ลงทุน ได้ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากมีราคาค่าใช้จ่ายสูง จึงเป็นการเพิ่มภาระต้นทุน ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอนาคตในการยอมสินค้า และการแข่งขัน รวมถึงการค้ากับต่างประเทศ เนื่องจากกฎระเบียบการค้าเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(EU)
โดยในปี 2567 มีบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.)เพียง สัดส่วน 30% ที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ขาดเครื่องมือในการวัดผล เนื่องมาจากมีต้นทุนสูงต้องจ่ายเงินหลักแสนบาทในการวัดผล ตลาดหลักทรัพย์ ฯ จึงร่วมมือกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM) เปิดตัวแพลตฟอร์ม SET Carbon ให้ช่วยในการจัดการข้อมูลตรวจสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ สำหรับองค์กรธุรกิจ ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 68 โดยเข้ามาใช้ได้ฟรี เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว และนำไปสู่การรวบรวมฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เชื่อมโยงข้อมูลกับภาครัฐ ช่วยลดความซ้ำซ้อน
“ที่ผ่านมามีการวัดผลการปล่อยคาร์บอนยาก และเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงทุนเป็นตัวกลาง เพื่อลดต้นทุน หาเครื่องมือวัดผลให้สะดวกในการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับระดับสากล จึงSandboxขึ้นาช่วยผู้ประกอบการ เพื่อให้ฐานข้อมูล ที่จะเป็นแนวทางการในการช่วยลดต้นทุนและสร้างความน่าเชื่อถือในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในอนาคต”
ครม.Climate Change จ่อครม. ก.พ.นี้
คาดมีผลบังคับใช้ปี 2569
ทางด้านดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดัน เครื่องมือช่วยส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการการลดการปล่อยก๊าซ พัฒนาตลาดการซื้อขายคาร์บอน เพื่อที่จะทำให้ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก รวมถึงไม่ส่งผลกระทบเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชน จึงได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเครื่องมือในการวางสมดุลระหว่างการกระตุ้นส่งเสริมศักยภาพ และมีบทลงโทษ โดยร่างพ.ร.บ.ได้ผ่านความเห็นขอบของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 อยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา คาดว่าจะใช้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 จากนั้นจะนำไปสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา แล้วนำเข้าสู่รัฐสภา คาดว่าจะสามารถผ่านร่างกฎหมายและมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2569
กฎหมายดังกล่าว จะช่วยในการปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน โดยมีกลไกการเงินจากกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) ร่วมกับการจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน (Taxonomy) ช่วยกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อเร่งการลงทุนและการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจ ภายใต้กฎกติกาและกลไกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ทั้งนี้ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับและลดภาระในการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะนำไปใช้พิจารณารูปแบบของกระบวนการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ที่จะเชื่อมกับการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระยะยาวต่อไป
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปลดล็อกเข้าถึงต้นทุนการเงินต่ำ
ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Finance เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันโลกยังคงมีความต้องการ Climate Finance อีกมาก EXIM BANK จึงมุ่งดำเนินบทบาท Green Development Bank เร่งเติมเต็ม Climate Finance ในประเทศไทย ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล ยกระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับโครงการหรือกิจการที่มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทุกภาคส่วนต้องบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในองค์กรและบูรณาการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของคู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นเพียง 1.99% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอด 3 ปี 4.99% ต่อปี)
ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ EXIM Bank จะสร้างระบบนิเวศข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครบวงจร ช่วยให้ธุรกิจไทยเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนากลไกสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในตลาดโลก