เศรษฐกิจโลกยังผันผวน ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดขยายตัว 2.4-2.9% แต่ยังเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือนและการขาดความสามารถในการแข่งขันของ SME. ที่ประชุมยังเน้นย้ำความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการหนี้
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวน ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมโดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกอบศักดิ์ ดวงดี ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยถึงผลการประชุม กกร. ได้มีการหารือถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2568 และแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก พบว่า ภาพรวม เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.4-2.9% ขณะที่การส่งออกในปี 2568 จะขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-1.2%
โดยเศรษฐกิจไทยยังอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน ประกอบกับมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเริ่มขยายผลในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส2 และเฟส3 รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า จีดีพีไทยยังเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ จากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 104% ของจีดีพีเมื่อรวมหนี้นอกระบบ เศรษฐกิจนอกระบบที่มีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี และธุรกิจ SME ขาดความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขัน ที่จะรับมือกับการตีตลาดของสินค้านำเข้าทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
โดยเน้นการสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงินให้กับครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อสร้างความสามารถในการชำระหนี้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ มาตรการที่ประชุมได้หารือ เพื่อต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในเชิงโครงสร้าง ที่สังคมไทยมีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน คือ หนี้นอกระบบในไทย ที่ยังถือว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน โดยข้อมูลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าหนี้นอกระบบเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 98,538 บาท ซึ่งส่งผลให้หนี้ครัวเรือนในภาพรวมสูงถึง 104% ของจีดีพี โดยมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเพื่อลดภาระนี้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
“ประเทศไทย งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อาทิ ผันเศรษฐกิจเข้าสู่ในระบบ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและก้าวทันกระแสโลกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นระบบ และเติมเครื่องมือให้ SME ปรับตัวได้ เป็นต้น”
กกร. ยังแสดงความกังวลต่อแนวโน้มการค้าโลกที่ผันผวนและการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศเพื่อรักษาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว.
สำหรับภาพรวม เศรษฐกิจโลกปี 2568 มีแนวโน้มเติบโต 3% ท่ามกลางความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ถือว่ามีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นอุปสรรคทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯต่อจีนเป็น 60% และต่อประเทศอื่นประมาณ 10-20% ตลอดจนมาตรการตอบโต้ของบรรดาประเทศคู่ค้า เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เป็นต้นไปที่คาดว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นของมาตรการ
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ