ข้าวคาร์บอนต่ำ ทางออกของโลกกรีน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเป้าพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้กว่า 10 ล้านไร่ หนุนทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการปล่อยก๊าซมีเทน พร้อมส่งเสริมใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซังข้าว แทนการเผา หวังเข้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูง
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยพบว่า ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วน 69.96% เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดมีสัดส่วนถึง 50.58% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ดังนั้น หลายประเทศรวมทั้งไทย มีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพื่อเจาะตลาดข้าวพรีเมียม ทั้งนี้ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก ก็มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวว่า ข้าวก็เป็นหนึ่งในสินค้าเป้าหมายที่กระทรวงการเกษตรฯให้การสนับสนุน ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 4.9 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ นาปี – นาปรัง รวมกว่า 70 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่เกือบกึ่งหนึ่งของพื้นที่ภาคการเกษตรของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้การผลิตข้าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
“ข้าวคาร์บอนต่ำ”ทางรอดของเกษตรกรไทย
“ข้าวคาร์บอนต่ำ” คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร (เช่น ไม่เผาฟางข้าว) นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) หรือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2561 – กรกฎาคม 2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน
กระทรวงเกษตรฯเร่งสปีดชาวนาไทยปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น กรมการข้าวจึงได้ปรับวิธีการปลูกข้าว มาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียก และสภาพแห้งที่เหมาะสมกับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ละระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติ เพื่อให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรงในช่วงที่เหมาะสม โดยเทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวได้เริ่มทดลองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ 22 จังหวัด และมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 3,300 คนแล้ว
“การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเป็นวิธีที่สะดวก ประหยัด และมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำแล้ว ยังสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตข้าวได้กว่า 30% ถือเป็นการพลิกโฉมการผลิตข้าวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดสาเหตุการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมให้เกิดตลาดพรีเมี่ยม เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และที่สำคัญ คือ เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร” ศ.ดร. นฤมล กล่าว
ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ การย่อยสลายฟางข้าวที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่เกิดขึ้นจากการเกษตรจำนวนมาก ที่ผ่านมาวิธีที่เกษตรกรจะใช้กันคือ การเผา ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศ ทำลายสภาพแวดล้อม และเป็นการเพิ่มมลภาวะทางอากาศอย่างมาก กระทรวงฯ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอชังข้าวแทนการเผา นอกจากเป็นการพัฒนาระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้เพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของข้าวให้แก่ดิน รวมถึงปรับปรุงโครงสร้าง และความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย
“ปัจจุบันเราสามารถผลิตข้าวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10 ล้านไร่ โดยการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเหมาะสม รววมถึงลดการเผาตอซังข้าวด้วยการใช้จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายฟางและตอชังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เป็นทางเลือกให้เกษตรกรกรลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร”
เวียดนามคู่แข่งส่งออกข้าวก็รุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ
ในส่วนของเวียดนาม ก็มีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ และพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ซึ่งเวียดนามใช้เทคนิคการปลูกข้าวคล้ายกับไทย โดยเน้นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันเวียดนามผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ผลิต “ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice)” เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ เวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าโดยเฉพาะการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย
เมื่อพิจารณาสถิติการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนาม พบว่า มีปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงกันมาก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกข้าว 8.77 ล้านตัน มูลค่า 5,147.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน มูลค่า 4,675.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม –กันยายน) ไทยส่งออกข้าว 7.45 ล้านตัน มูลค่า 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 6.96 ล้านตัน มูลค่า 4,353.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และจากความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต