ซีพี-เมจิ เปิดแผนดูแลเกษตรกรฟาร์มโคนม ยกระดับมาตรฐานจากหน้าฟาร์มสู่โรงงานผลิตนม จัดตั้งฝ่ายบริหารจัดการน้ำนมดิบ ช่วยขับเคลื่อนโครงการแบบบูรณาการกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ สร้างกลไกความร่วมมือกับนักวิชาการด้านโคนม เตรียมผลักดันหลักสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม พร้อมเริ่มศึกษาการวัดคาร์บอนเครดิต หนุนอาชีพเลี้ยงวัว
การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ที่ถือว่ามีความซับซ้อนมากกว่าประเทศที่เป็นผู้ผลิตหลักของโลก อย่าง นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ อาทิ ปัญหาสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนอาหารทำให้ต้องมีการนำเข้า ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น เกษตรกรหลายรายไม่สามารถแบกรับภาระได้ ส่งผลให้จำนวนโคนมลดลง อีกทั้ง การเลี้ยงโคนมยังเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อย เนื่องจากภาพจำความลำบากและความยุ่งยากในการเลี้ยงดู จึงเป็นทางแยกของการต้องยกระดับหาวิธียกระดับพัฒนา ไปสู่ความยังยืนทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรม
นายอาทิตย์ นุกูลกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการน้ำนมดิบ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า พื้นฐานและโครงสร้างการเลี้ยงโคนม ในประเทศไทยมีการวิวัฒนาการยกระดับในทิศทางที่ดีมาโดยตลอด ทำให้มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีวิถีการเลี้ยงที่แตกต่างกัน และแต่ละแห่งถือว่ามีรูปแบบการเลี้ยงที่มีคุณ
สาเหตุอะไรทำให้เกษตรกรเลี้ยงวัวลดลง จนน้ำนมดิบขาดแคลน
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นจุดอ่อนในอุตสาหกรรมผลิตนม และการเลี้ยงโคนมคือ จำนวนปริมาณนมที่ลดลง จากอดีตประเทศมีปริมาณน้ำนมดิบถึง 3,400 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 2,800 ตัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนโควิด-19 เกิดปัญหาการผลิตสูง (โอเวอร์ซัพพลาย) เกินกว่าปริมาณความต้องการ(ดีมานด์)ลง แต่หลังจากสถานการณ์โควิด กลับมีปัจจัยผลกระทบจากปัญหาสงคราม ที่ส่งผลทำให้พืชที่เป็นอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตจึงสูงตาม จึงเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรเลี้ยงฟาร์มโคนมขาดทุน จนต้องเลิกกิจการไป
สาเหตุนี้จึงทำให้เหลือกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงฟาร์มโคนมลดลง
การรับน้ำนมดิบสู่โรงงานผลิตเครื่องดื่มนมต้องผ่านศูนย์น้ำนมดิบที่รวบรวมจากฟาร์มเกษตรกร โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางในการดูแลรับผิดชอบก่อนส่งไปยังโรงงาน ซึ่งสหกรณ์จะมีสองรูปแบบคือ สหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตร
“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเกษตรกรที่เลี้ยงวัวในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย เป็นอาชีพสำหรับคนทั่วไป ที่ไม่เหมือนฟาร์มหมูที่มีนักลงทุนเข้ามา การที่เขาเป็นเกษตรกรรายย่อยก็อาจจะมีขีดจำกัดบางอย่างไม่เหมือนในต่างประเทศที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อยก็จะเลี้ยงวัวหลังบ้าน ก็ต้องค่อยๆ พัฒนายกระดับ หากจะทำให้เกิดความยั่งยืน”
รับนมจากเกษตรกรสู่โรงงานต้องผ่านสหกรณ์
การรับน้ำนมดิบสู่โรงงานผลิตเครื่องดื่มนมนั้น จะต้องมีศูนย์น้ำนมดิบเป็นผู้รวบรวมจากฟาร์มเกษตรกร โดยมีสหกรณ์เป็นตัวกลางในการดูแลรับผิดชอบก่อนส่งไปยังโรงงาน ซึ่งสหกรณ์จะมีสองรูปแบบคือสหกรณ์โคนม ที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงโคนมตลอดห่วงโซ่ และสหกรณ์การเกษตร ที่ดูแลครบทั้งการปลูกพืชตลอดจนเลี้ยงสัตว์
“สหกรณ์คือผู้ใกล้ชิดผู้เลี้ยงโคนมมากกว่าผู้ผลิตนม เขาก็จะไปดูแลไปถามสารทุกข์สุกดิบของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกว่ามีความอยู่ดีกินดีไหม ดูแลทั้งหมดตั้งแต่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรื่องของค่าของชีพ อาหารสัตว์ แม้กระทั่งชีวิตประจำวันอื่นๆ ทั้งระบบจะผ่านกับระบบสหกรณ์ ดังนั้นผู้ผลิตก็จะเป็นการดูแลเกษตรกรตามระบบของสหกรณ์ จะทำอะไรก็ต้องไปขออนุญาตสหกรณ์”
วิธีการรับนม เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเครือข่ายซีพี เมจิ
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า วิธีการเลี้ยงโคนมในต่างประเทศ จะปล่อยให้โคเดินไปตามทุ่งหญ้า ถ้าเป็นเมืองหนาวจะมีหญ้าเพียงพอ ต้นทุนต่ำ ถึงเวลาก็เดินมารีดนม แต่ในประเทศไทยจะเป็นการลงทุนหาอาหารข้นที่เป็นอาหารเม็ด กับอาหารหยาบที่เป็นหญ้า เช่นหญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ผสมผสานกันไป ซึ่งตรงนี้คือต้นทุนเกษตรกร ซีพี เมจิ ได้มีการทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ ที่มีศูนย์วิจัยพืชอาหารสัตว์อยู่ทั่วประเทศ
ขณะที่การรับซื้อน้ำนมดิบของซีพี เมจิ ในประเทศไทยมี 3 ส่วน คือ ส่วนแรกจะมาจากฟาร์มซีพีเอฟ อีกส่วนจะมาจากสหกรณ์ที่มีการเซ็นสัญญาโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีกส่วนจะเป็นการแชร์ซึ่งหมายความว่าสหกรณ์นั้นอาจไม่ได้ส่งน้ำนมดิบให้แค่ซีพี เมจิ เจ้าเดียว แต่ส่งให้เจ้าอื่นด้วย โดยทั้งหมดก็อยู่ภายใต้ที่กรมส่งเสริมกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์กำหนดในลงนามทำสัญญา (MOU) ฉะนั้นทางฝ่ายราชการก็จะบอกว่านมทุกหยดของเกษตรกรต้องมีแหล่งซื้อขายที่ชัดเจน
ซีพี เมจิ ได้ส่งบุคลากรไปดูแลตั้งแต่การผสมพันธุ์ การจดบันทึก ที่จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องหรือ ผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholders) จำนวนมาก ตั้งแต่หน่วยงานราชการ เอกชน ชุมชน จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานฟาร์ม มาตรฐานการรับซื้อ ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ ไม่มีสารปน และราคารับซื้อต้องมาจากมิลค์บอร์ด เหมือนกันทั่วประเทศ
อนาคตกับคาร์บอนเครดิตในฟาร์มโคนม
เมื่อการเลี้ยงโคนมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้ซีพี เมจิ มองถึงตลาดคาร์บอนเครดิตจากฟาร์มโคนมในประเทศไทย ที่แม้จะพูดถึงมาสักระยะ แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากคนเลี้ยงโคนมเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในการพัฒนาและสร้างการรับรู้ ผ่านการสื่อสาร ให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่จะต้องดำเนินการ ให้สามารถพัฒนาแนวทางการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซ และเก็บคาร์บอนเครดิต จึงได้หารือกับหน่วยงานภารรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ กระทรวงพลังงาน ศึกษาโมเดลต้นแบบ วางกติกา ออกกฎหมาย สร้างพื้นฐาน โดยเริ่มต้นจากภาคสมัครใจ จนขยายไปสู่ภาคบังคับ โดยแบ่งพื้นที่ตามโซน
“ต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้คือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นชาวบ้าน หากจะพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากฟาร์ม ต้องมีวิธีการสื่อสาร ที่จะหาวิธีการวัดบคาร์บอนเครดิตอย่างไร เช่น ตอนนี้หลายฟาร์มเริ่มเห็นทำเรื่องไบโอก๊าซ หรือก๊าซชีวภาพที่เป็นเศษของเหลือจากฟาร์ม เพียงแต่จะต้องมีคนไปช่วยวัดปริมาณจากกิจกรรม ที่จะต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจ โดยภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องกติกากฎหมาย ปูพื้นฐานให้เข้าใจ จากความสมัครใจก่อนจะเป็นภาคบังคับ เริ่มเป็นไปตามโซนพื้นที่”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในอดีตวงการโคนมที่มีการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาการเลี้ยงแบบใหม่ตลอดเวลา จนปัจจุบันกำลังจะก้าวไปสู่คาร์บอนเครดิต เช่น การรณรงค์ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะจนตอนนี้ลดเหลือศูนย์ โดยเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากภาคสมัครใจก่อน จนขยายไปสู่การเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้ จนนำไปสู่การสร้างความร่วมมือเป็นโมเดลที่ใหญ่มากขึ้น
6 พันฟาร์ม ส่งนมให้ ซีพี เมจิ
เตรียมยกระดับมาตรฐานฟาร์มด้วยหลัก Animal Welfare
ฟาร์มโคนมทั้งประเทศมีหมื่นกว่าฟาร์ม อยู่กับซีพี เมจิ ราว 6,000 ฟาร์ม นอกจากเรื่องคาร์บอนเครดิตแล้ว ก็ยังมีการผลักดันเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ด้วย
“ตอนนี้ก็พยามที่จะประเมินว่าฟาร์มของเราเข้าหลัก Animal Welfare ไหมซึ่งมันไม่เหมือนกับปศุสัตว์ที่เค้ามีเรื่อง GAP, GMP ซึ่งสวัสดิภาพสัตว์ คือการที่สัตว์ได้รับการเลี้ยงและดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดี มีที่อยู่สะดวกสบาย ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งที่ซีพี เมจิ ให้ความสำคัญ พยายามจะยกระดับฟาร์มในเรื่องนี้ โดยดึงปศุสัตว์เข้ามาช่วยดูแล” อาทิตย์ กล่าว
Road map ซีพี เมจิ จัดการน้ำนมดิบและสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม
ด้านนางสาวชาลินี พูนลาภมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และความยั่งยืน บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวเสริมว่า การบริหารจัดการน้ำนมดิบและสวัสดิภาพสัตว์ เป้าหมาย 100% ของฟาร์มโคนมที่ส่งนมให้ซีพี-เมจิ ต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพระดับ Gold Standard ซีพี เมจิ ได้สนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจัดการอบรมและให้ความรู้เชิงวิชาการ ผนวกกับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยง โคนม บริษัทฯ ได้วาง Roadmap ในด้านการสนับสนุนฟาร์มโคนมในการพัฒนาคุณภาพการเลี้ยง เพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพและปริมาณตามมาตรฐาน ภายใต้ MOU กับทีมนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ทั้งนี้ การพัฒนาทางด้านผลผลิตผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของฟาร์มโคนม เพื่อให้ได้น้ำนมดิบในปริมาณ มาตรฐาน ประมาณ 12-15 กิโลกรัม ต่อตัว การเพิ่มจำนวนฟาร์มเครือข่าย ศูนย์รับนมเครือข่าย และฟาร์มต้นแบบ เพื่อขยายการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในการจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพครบวงจร ใน
ปัจจุบัน มีฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฟาร์มต้นแบบกับทางซีพี-เมจิ 65 ฟาร์ม เพิ่มปริมาณน้ำนมดิบ ปัจจุบันบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด รับปริมาณน้ำนมดิบ 600 ตันต่อวัน กระจายอยู่ตามศูนย์รับนม 50 แห่ง ทั่วประเทศไทย เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบเพื่อ “ยกระดับคุณภาพชีวิต” ของผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และปลอดภัย เหมาะสมกับการบริโภค อาทิ ปริมาณไขมันที่มีประโยชน์ในน้ำนมดิบ ค่ามาตรฐานของจุลินทรีย์ ค่ามาตรฐานทางเคมีในน้ำนมดิบ เป็นต้น
การ “เพิ่มคุณค่าชีวิต” ทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม
ซีพี-เมจิยึดหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice ; GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคสำหรับฟาร์มโคนมซึ่งครอบคลุมข้อกำหนดตั้งแต่องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล
ซีพี-เมจิ ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) โดยในปี 2567 ทางทีมบริหารจัดการน้ำนมดิบ ของซีพี-เมจิ (Raw Milk Management: RMM) ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และกรมปศุสัตว์ จัดทำแบบประเมินสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อตรวจประเมินฟาร์มต้นแบบนำร่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 แกนหลัก ได้แก่ ด้านการออกแบบ และการจัดการระบบการเลี้ยงและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และด้านการจัดการเลี้ยงดูโคนมตามมาตรฐานการจัดการฟาร์มปศุสัตว์ที่ถูกต้อง
ส่องโมเดล โอบอุ้มอาชีพสหกรณ์การเกษตรเมืองเลยให้ไปต่อ
กันทิมา สุนทราวิรัตน์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองเลย กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงนมที่มีปริมาณลดลง และยังเผชิญกับความท้าทายในการเลี้ยง ทางสหกรณ์มีส่วนช่วยเหลือสมาชิกในการให้ทุนกู้เพื่อซื้อโคนมประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อราย เข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก พร้อมช่วยยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ตรวจวัดคุณภาพน้ำนมดิบตั้งแต่ หน้าฟาร์มก่อนส่งไปยังศูนย์นม และตรวจวัดอีกครั้งก่อนส่งโรงงานใหญ่
“สหกรณ์พยายามที่จะประคับประคองผู้เลี้ยงโคนมที่เหลืออยู่ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบเกษตรกรทยอยเลิกสาเหตุจากต้นทุน และโรคระบาดที่ไม่อาจรับไหว ก็จะมีมาตรการส่งเสริมให้ช่วยกันดูแลฟาร์ม ขณะเดียวกันเพิ่มราคาน้ำนมดิบ ซึ่งราคามาตรฐานอยู่ที่ 21.98 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมกับอนาคตจะหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรงในการเลี้ยงมากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพนี้ เนื่องจากยังติดภาพจำความลำบาก”
ขณะที่ สายฝน ศรีภู สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองเลย เจ้าของฟาร์มโคนม กล่าวว่า เริ่มต้นเลี้ยงโคนมตั้งแต่ปี 2559 จากฟาร์มเล็ก ๆ ตอนนี้มีโคนมที่อยู่ในการดูแลประมาณ 70 ตัว หลักการเลี้ยงก็จะเลี้ยงแบบระบบเปิด มีการรีดนมทุกเช้า และบ่ายแก่ ๆ ซึ่งถ้าไม่ทำทุกวันก็โคอาจจะมีการคัดเต้า จากนั้นนมที่ได้ก็จะถูกส่งไปยังศูนย์รับนมของสหกรณ์การเกษตรเมืองเลย คิดว่าเป็นอาชีพพระราชทานที่ดี ทำให้เรามีรายได้ที่ดี