โค้กขวดแก้วใหม่-ฉลากกระดาษ เปิดตัวครั้งแรกในไทย ลงใต้ดื่มก่อนใคร พร้อมสายการผลิตยั่งยืนระดับเอเชีย

โค้กขวดแก้วใหม่-ฉลากกระดาษ เปิดตัวครั้งแรกในไทย ลงใต้ดื่มก่อนใคร พร้อมสายการผลิตยั่งยืนระดับเอเชีย

โรงงานหาดทิพย์ สุราษฏร์ธานี เปิดตัวโค้กขวดแก้วดีไซน์ใหม่ในประเทศไทยครั้งแรก ชวนสัมผัสประสบการณ์ความซ่าก่อนใครในภาคใต้ โรงงานพุนพิน สายการผลิตยั่งยืนระดับเอเชีย มุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

 

 

บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เปิดโรงงานพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมสายการผลิตขวดแก้วใหม่ ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานระดับโลกของแบรนด์ “โคคา-โคล่า” สะท้อนภาพความมุ่งสร้างความเติบโตทางธุรกิจควบคู่การพัฒนาสังคมภาคใต้

ความยั่งยืนในกระบวนการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขวดแก้ว ฉลากกระดาษ ยังสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

 

 

เดินทางลงใต้ เพื่อดื่ม

หลายคนอาจไม่รู้ว่าภาคใต้มี หาดทิพย์ เป็นผู้ดูแลการผลิตและจำหน่ายโค้กอย่างเป็นเอกเทศจาก ไทยน้ำทิพย์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อื่นในประเทศ ความแตกต่างนี้เกิดจากการบริหารแยกกันตั้งแต่ต้น เพราะทั้งสองบริษัทมาจากคนละตระกูล ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นก็ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

การเดินหน้าส่งต่อความสดชื่นให้กับภาคใต้เริ่มต้นเมื่อปี 2512 หาดทิพย์ดำเนินงานด้วยปรัชญาที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันบริษัทดำเนินการผ่านโรงงานสองแห่งที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี พร้อมทีมงานกว่า 2,000 คน และเครือข่ายสาขา 19 แห่งที่กระจายตัวครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเต็มที่ 

โรงงานพุนพินในสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 315 ไร่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 พร้อมสายการผลิต 6 สายที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐานระดับโลก รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล 

 

 

 

 

เดินหน้าเป้าหมาย 4 ด้าน หมุนเวียนทรัพยากร สร้างความยั่งยืน

-การจัดการบรรจุภัณฑ์ 

ในปี 2567 หาดทิพย์ได้ออกแบบลังบรรจุผลิตภัณท์ใหม่ที่ช่วยป้องกันการกระแทก ทำให้ขวดแก้วใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้ฉลากกระดาษที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สำหรับสายการผลิตขวดแก้วใหม่ของหาดทิพย์ เริ่มเดินเครื่องเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีกำลังผลิตสูงสุดถึง 800 ขวดต่อนาที และรองรับทั้งขวดแก้วคืนขวดและไม่คืนขวด เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วชนิดคืนขวดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่องทางโรงแรม ร้านอาหาร 

พร้อมปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ใช้งานทนทานนานยิ่งขึ้น ด้วยลังป้องกันกระแทกแบบใหม่ และฉลากกระดาษย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่จะถูกนำมาลอกออก บดรวมกัน และส่งไปจัดการต่อตามกระบวนการ 

อีกทั้งปรับลดขนาดฝาและคอขวดลง ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติก ลง 911 ตัน และอะลูมิเนียม 404 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

 

 

 

-การบริหารทรัพยากรน้ำ 

บริษัทตั้งเป้าลดการใช้น้ำจาก 1.54 ลิตรต่อหน่วยการผลิตเหลือ 1.39 ลิตรต่อหน่วยภายในปี 2573 จากการออกแบบโรงงานให้ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า ด้วยระบบที่สามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ซ้ำได้ 100% สำหรับการผลิตที่ไม่ใช่ส่วนประกอบในเครื่องดื่ม จุดเด่นคือการลดปริมาณการใช้น้ำในทุกขั้นตอน เช่น การปรับขนาดหัวฉีดล้างขวดแก้ว การติดตั้งเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน และระบบล้างรถอัตโนมัติที่ใช้น้ำหมุนเวียน 

นอกจากนี้ ยังมีระบบบำบัดน้ำเสียธรรมชาติ พัฒนาบนพื้นที่ 26 ไร่ โดยใช้ระบบบ่อปรับเสถียรที่ใช้พลังงานต่ำ อาศัยแบคทีเรียแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic) ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ไม่ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษเกินค่ากำหนด โดยกระบวนการบำบัดนี้ใช้เวลาประมาณ 30 วัน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายขั้นตอน ได้แก่

  1. บ่อไร้อากาศ (Anaerobic Lagoon): ใช้แบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจนเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย
  2. บ่อหมักเติมอากาศ: ใช้กระบวนการเติมออกซิเจนและพลังงานแสงแดดเพื่อช่วยบำบัดน้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น
  3. บ่อผักตบชวา: ช่วยกำจัดตะกอนและสารอินทรีย์ที่เหลืออยู่ โดยใช้ผักตบชวาเป็นตัวช่วยในการบำบัด
  4. บ่อน้ำใส: ขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้น้ำมีความใสสะอาดและได้มาตรฐาน ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

 

 

-การใช้พลังงานสะอาด 

ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 โดยเน้นการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อย่างที่โรงงานพุนพินได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งบนหลังคาและแบบลอยน้ำรวมกว่า 9,000 แผง ซึ่งช่วยผลิตพลังงานได้ถึง 19% ของที่โรงงานใช้ทั้งหมด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 3,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ยังมีแผนเพิ่มแผงโซลาร์เพิ่มเติมในปีหน้า โดยคาดว่าก่อนสิ้นปี 2568 จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงงานได้ถึง 28%

นอกจากนี้ยังเดินหน้าลดคาร์บอนในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การใช้รถยกไฟฟ้าและรถขนส่งเชื้อเพลิง NGV เพื่อลดมลพิษ และติดตั้งระบบหมุนเวียนความร้อนกลับมาใช้ใหม่ พร้อมประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กรทุกปี และขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยปี 2567 ได้รับรองสินค้า 83 ประเภท

 

 

-การดูแลสังคม และ พนักงาน

สนับสนุนการรีไซเคิล จัดเก็บขวดพลาสติกและกระป๋องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป และร่วมแคมเปญ “โค้ก” ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ในภูเก็ตและสงขลา

จัดกิจกรรมส่งเสริมการตระหนักรู้ จัดโครงการเครื่องจักสานจากฝาขวดพลาสติกร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประกวดชั้นวางสินค้าจากวัสดุรียูส เพื่อกระตุ้นการลดและแยกขยะในหมู่ผู้บริโภค

สำหรับการดูแลพนักงาน หาดทิพย์ออกแบบบ้านพักพนักงานให้ตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก ออกแบบโครงสร้างให้ลมพัดผ่านได้ดี และใช้แสงธรรมชาติเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า อีกทั้งยังใช้วัสดุที่รีไซเคิลแล้วถึง 50% ในการก่อสร้าง

 

 

 

 

จอห์น เบเนเดตตี รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส – ซัพพลายเชน บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า นี่คือก้าวสำคัญในการพัฒนาซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่ไม่เพียงมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพ แต่ยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภาคใต้ 

“หาดทิพย์มุ่งมั่นยกระดับกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมความยั่งยืน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ พลังงานสะอาด และล่าสุดคือการเปิดสายการผลิตขวดแก้วใหม่ เพื่อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

นันทิวัต ธรรมหทัย รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ – องค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพสูงสุด แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ปรัชญาการเติบโต ควบคู่กับความยั่งยืน “ภาคใต้คือบ้านของหาดทิพย์ เราไม่เพียงมุ่งพัฒนาธุรกิจให้ยั่งยืน แต่ยังสนับสนุนการเติบโตของชุมชนอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าความสำเร็จทางธุรกิจต้องเคียงคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พนักงานทุกคนจึงภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความสดชื่นและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับชุมชนในภาคใต้”