เบื้องหลังความสำเร็จ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ ความยั่งยืนคือการเดินทางไม่มีวันสิ้นสุด

เบื้องหลังความสำเร็จ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ ความยั่งยืนคือการเดินทางไม่มีวันสิ้นสุด

เบื้องหลังความสำเร็จ โรงแรมลักซ์ชัวรี่ ใจกลางเมือง “ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ” บริหารโรงแรมด้วยความยั่งยืน จนกลายเป็นโรงแรมแห่งแรกของโลกที่ได้การรับรองมาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน (ISO 20121) 

 

ธุรกิจโรงแรมนับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีส่วนปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ไม่น้อยไปกว่าธุรกิจอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ พลังงานไฟฟ้า รวมถึงอาหารการกิน ฯลฯ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่างประเทศไทยที่มีโรงแรมมากกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ ยังไม่รวมที่พักอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงแรม 

จากรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อย GHG ราว 8% ของการปลดปล่อย GHG ทั่วโลก โดยเป็นการปล่อยมาจากภาคธุรกิจโรงแรมทั่วโลกโดยเฉลี่ย 1% นอกจากนี้อุตสาหกรรมโรงแรมยังมีการใช้น้ำมากกว่า 1.3 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มากกว่าการใช้น้ำในครัวเรือนทั่วไป ถึง 2-3 เท่า และสร้างขยะมูลฝอยมากกว่า 130 ล้านตันต่อปี บางส่วนถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งส่งผลต่อปัญหามลพิษทางดิน บางส่วนถูกเผา กลายเป็นมลพิษทางอากาศ บางส่วนถูกนำไปรีไซเคิล แต่ยังมีปริมาณขยะจำนวนมากที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี

ขณะที่องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization) และ Urban Land Institute ระบุว่า จากสัดส่วน 1% ของการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมโรงแรมทั่วโลกนั้น ใช้พลังงานมากกว่าสำนักงาน ร้านค้าปลีก ที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว และการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ

ส่วนรายงานของ International Tourism Partnership (ITP) รายงานว่า ภาคธุรกิจโรงแรมมีความจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 90% ภายในปี 2050 เพื่อให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส จึงเป็นเหตุผลที่ภาคโรงแรมจำเป็นต้องหาวิธี “การจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลก

 

ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ 

บริหารโรงแรมด้วยแนวคิดความยั่งยืน

ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ (The Athenee Hotel Bangkok, The Luxury Collection) เป็นหนึ่งในโรงแรมที่นำหลักการพัฒนาอย่างยืนเข้ามาปรับใช้ในองค์กร และบริหารจัดการภายในโรงแรม จนได้รับการยอมรับเป็นโรงแรมแห่งแรกของโลก ตีตรามาตรฐานจัดการยั่งยืน ลดขยะเป็นศูนย์ การันตีด้วยรางวัล ISO Certification (ISO 20121) มาตั้งแต่ปี 2013 (พ.ศ.2556)

อีกทั้งยังเป็นโรงแรมแห่งแรกในเอเชียที่ได้ตรา VERIFIED Responsible Hospitality Badge จาก ฟอร์บส์ ทราเวล ไกด์ (Forbes Travel Guide) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานความเป็นเลิศในธุรกิจบริการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อครั้ง ชูเลง โก (Choo-leng Goh) ผู้จัดการทั่วไป ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อกฯ ได้ไปฟังสัมมนาแห่งหนึ่ง โดยมี Speaker ท่านหนึ่งได้แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทของเขาที่ได้ใบประกาศ ISO 2012 จากงานโอลิมปิคลอนดอนเมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งเขาอธิบายเกี่ยวกับการใช้วัสดุรีไซเคิลผนวกกับอาคาร และให้แนวคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยนตึกให้เป็น Sustainable แต่หัวใจสำคัญคือวิธีการทำงานมากกว่าว่าจะทำให้เกิดความ Sustainable อย่างไร นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ชู สนใจทำเรื่องนี้ และตั้งเป้าหมายว่าจะทำโรงแรม ดิ แอทธินิ โฮเทล แบงค็อกฯ ให้เป็นโรงแรมห้าดาวที่เป็น Sustainable ให้ได้

 

the athenee hotel-sustainable
ชูเลง โก (Choo-leng Goh)

 

“ความมุ่งมั่นของเราต่อความยั่งยืน คือการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นกระบวนการที่จะทำให้เราดีขึ้นในทุก ๆ วัน ตั้งแตวันนี้และวันพรุ่งนี้ต่อ ๆ ไป เรื่องความยั่งยืนจำเป็นต้องลงมือทำ ไม่ใช่แค่พูดว่าตัวเองทำเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว” ชู กล่าวในงาน ISO Awareness Day 2024 เมื่อไม่นานผ่านมา

โดยงาน ISO Awareness Day 2024 เป็นงานที่ดิ แอทธินี โฮเทล จัดขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมงานบริการ รวมถึงแบ่งปันเรื่องราวความสำเร็จและความมุ่งมั่นตลอดทศวรรษที่ผ่านมาในฐานะผู้นำการกำหนดมาตรฐานแนวทางการปฏิบัติในอุตสาหกรรมงานบริการที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการริเริ่มต่าง ๆ พร้อมสร้างฉากทัศน์เป้าหมายให้โรงแรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกในอนาคต

 

เส้นทางความยั่งยืน 10 กว่าปีผ่านมา 

โจทย์หลักบริหารจัดการทรัพยากร 

นอกจากนี้ ภายในงานตัวแทนจาก ดิแอทธินี โฮเทล ได้นำเสนอเรื่องราวการบริหารความยั่งยืน ในช่วงการเดินทางตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2012 โรงแรมตั้งโจทย์เอาไว้ว่า จะบริหารจัดการทรัพยากรที่เยอะมากขึ้นได้อย่างไร? จนที่สุดได้มีนโยบายการจัดการโดยมี 8 ด้านหลักที่ให้ความสำคัญ ประกอบด้วย 

1.การอนุรักษ์และนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใใหม่ ลดปริมาณขยะทั่วไปและมลภาวะให้เหลือน้อยที่สุด 

2.ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ร่วมงาน ซัพพลายเออร์ และหุ้นส่วนเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ

3.ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร 

4.กำหนดตัวชี้วัดและจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ

5.ให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เช่นอาหารปลอดสารเคมี ใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ 

6.สร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน แขกผู้เข้าพัก ชุมชนต่าง ๆ 

7.ดำเนินการรายงาน ความโปร่งใส

8.ส่งเสริมความมีส่วนร่วมและการบูรณาการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

the athenee hotel-sustainable

 

ปรับปรุงห้องพัก ลดขยะเฟอร์นิเจอร์

ตัวแทนกล่าวว่า หนึ่งในตัวอย่างการดำเนินการคือ มีปรับปรุงห้องพักเพื่อลดปริมาณขยะเฟอร์นิเจอร์ โดยนำมาดัดแปลงและออกแบบใหม่ให้มีความทันสมัยโดยฝีมือช่างไทย เช่น หัวเตียงชุดเก่าถูกนำไปทำเบาะใหม่ และปัจจุบันนำไปใช้ตกแต่งในห้องพักแขกอย่างสวยงาม อีกทั้งยังมีการปรับปรุงเฟอร์นิเจอร์โดยทำการเพิ่มความสูงให้ กับขาเก้าอี้หรือโต๊ะและเพิ่มวัสดุที่เป็นหินอ่อนบนหน้าโต๊ะ และปรับปรุงระบบน้ำใหม่ เพื่อทำให้ประหยัดมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังรีไซเคิลผ้าเช็ดมือจากชุดเครื่องนอนเก่า โดยการนำชุดเครื่องนอนมาดัดแปลงเป็นผ้าเช็ดมือและที่รองแก้ว เพื่อลดการใช้กระดาษทิชชู่และกระดาษเช็ดมือ ซึ่งผ้าปูเตียง 1 ผืน สามารถทำผ้าเช็ดมือได้มากถึง 70 ชิ้น

นอกจากนั้น โรงแรมยังได้มีการเปลี่ยนมาใช้ไฟ LED ในทุกพื้นที่ของโรงแรม รวมถึงห้องประชุม เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 83.95% ทั้งยังได้ความสว่างที่มากขึ้น

 

ข้าวอินทรีย์ส่งตรงจากฟาร์มสัจธรรม รับซื้อ 3 ตันต่อเดือน

นอกจากนี้ ในส่วนของข้าวที่เสิร์ฟในร้านอาหารหรือในงานอีเว้นท์ รวมไปถึงในโรงอาหารของพนักงาน ข้าวทั้งหมดที่ใช้จะเป็นข้าวอินทรีย์ ที่ถูกซื้อโดยตรงจากฟาร์มสัจธรรม ในจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเป็นการสนับสนุนชุมชนของเกษตรกร โดยเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ช่วยให้พวกเขาเป็นเจ้าของที่ดินของตนเองแทนที่จะเป็นหนี้ธนาคาร อีกทั้งยังให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพแก่แขกคนสำคัญของโรงแรมและพนักงาน ผ่านการซื้อโดยตรงจากเกษตรกร ไม่ผ่านพ่อค้ากลาง โดยโรงแรมแอทธีนีซื้อข้าวอินทรีย์ประมาณ 3 ตันต่อเดือนตั้งแต่ปี 2559

“สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการจัดส่งข้าวอินทรีย์โดยตรง และทำให้เกษตรกรมี กำไรทางการเงิน โดยปี 2566 เป็นปีที่ 7 ของการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวท้องถิ่น” ตัวแทนกล่าว

 

the athenee hotel-sustainable

 

ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค

ส่วนของวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้ยังเน้นเป็นออแกนิคมาตั้งแต่ปี 2559 และโรงแรมเริ่มร่วมงานกับสมาคมผู้บริโภคออร์แกนิคไทยในปี 2563 ซึ่งช่วยให้เชื่อมต่อโดยตรงกับเกษตรกรเพื่อหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นออร์แกนิคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง 

 

จัดการดอกไม้สดแปลงสู่เครื่องหอม 

ในส่วนของดอกไม้สดที่มีการใช้ทุก ๆ วันในการตกแต่งสถานที่จัดงานในโรงแรม หรือพื้นที่ประชุม เพื่อให้ดอกไม้สดที่ถูกใช้แล้วได้รับการรีไซเคิล จึงสนับสนุนการดัดแปลงสู่เครื่องหอมที่เรียกว่า “บุหงารำไป” ที่ใช้ดอกไม้สดและดอกไม้จากสวนของโรงแรม 

 

รณรงค์การลดใช้หลอด 

ไม่เท่านั้นยังยกเลิกใช้หลอดพลาสติก โดยการแทนด้วยหลอดกระดาษ เพื่อให้แขกที่เข้าพักมีส่วนร่วมในการลดปริมาณใช้พลาสติก

“ระหว่างปี 2561-2564 ได้ลดการใช้ หลอดกระดาษลงไปอีก 74% โดยจะให้หลอดกระดาษเมื่อถูกแขกขอเท่านั้น เนื่องจากต้อนรับแขกจำนวนมากทุกวัน เชื่อว่านี่เป็นก้าวสำคัญในการลด การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” ตัวแทนกล่าว

 

the athenee hotel-sustainable

 

การจัดการขยะอาหาร 

ขณะที่การจัดการขยะอาหาร (Food Waste) มีการนำส่วนที่เหลือจากการทำอาหารมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำแยมโฮมเมดจากผลไม้ที่เหลือ การทำเทียนจากกะลามะพร้าว และการนำเปลือกผลไม้มาทำน้ำยาทำความสะอาด

 

ความเท่าเทียมทางด้านโอกาส

อย่างไรก็ตาม ดิ แอทธินี ยังสนับสนุนกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทางโรงแรมเชื่อในวัฒนธรรมของการไม่แบ่งแยกและเปิดโอกาสให้ทุกคน มีความเท่าเทียม และหนุนความหลากหลายทางเพศในที่ทำงานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยั่งยืนและเหมาะสมยิ่งขึ้นอีกทั้งยังมีการสนับสนุนสตรีหรือผู้หญิงในเรื่องของ ความเป็นผู้นำและการให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาทักษะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับบุคลากรขององค์กร เป็นต้น