กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก สมุทรสาคร เปลี่ยนวิกฤตโลกร้อนเป็นโอกาส ด้วยการผลิตผ้ามัดย้อมจากใบลิ้นจี่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก สมุทรสาคร เปลี่ยนวิกฤตโลกร้อนเป็นโอกาส ด้วยการผลิตผ้ามัดย้อมจากใบลิ้นจี่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก จังหวัดสมุทรสาคร พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หันมาใช้ใบลิ้นจี่ที่ไม่ติดผลทำผ้ามัดย้อม เพิ่มรายได้และลดต้นทุนผ่านเทคโนโลยีพลังงาน

 

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลที่ไม่แน่นอน จากวิกฤตโลกร้อน ทำให้ฝนตกผิดฤดูและภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะต่อผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ตามมาด้วยผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร กลายเป็นความท้าทายในการวางแผนเพาะปลูกและการปรับตัวให้รอด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก เป็นอีกหนึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ปรับตัวสู้โลกร้อน หลังลิ้นจี่ไม่ติดผลตามฤดู พวกเขาจึงหันมาสร้างรายได้จากใบลิ้นจี้แทน ด้วยการนำสีจากใบมาทำผ้ามัดย้อม สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มี นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังใช้เทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมความยั่งยืนในชุมชนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

 

 

 

 

-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก

“ที่นี้เคยปลูกลิ้นจี่ พันธุ์ค่อม แต่พออากาศเปลี่ยน หนาวบ้าง ไม่หนาวบ้าง ผลผลิตก็ไม่มี ทำให้เกษตรกรต้องตัดต้นลิ้นจี่ทิ้ง แล้วปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก ตำบลบางยี่รงค์ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เล่า

โดยกลุ่มวิสาหกิจแห่งนี้เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกกว่า 27 คน ในพื้นที่กว่า 11 ไร่ ที่นี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้การนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาสร้างรายได้ จากการนำใบลิ้นจี่มาทำผ้ามัดย้อมดังกล่าว ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย “โลกเดือด” เมื่อผลผลิตไม่ติดดอกออกผล ทำให้ชุมชนแห่งนี้และเป็นตัวอย่างของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

-สภาพอากาศแปรปรวนกระทบเกษตรกร 

ผลผลิตลด-คุณภาพตก

บุปผา ไวยเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนนอก เล่าให้ฟังว่า เมื่อเข้าไปในพื้นที่ 11 ไร่ ในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ทุกคนที่มาจะพบกับมะพร้าวเรียงรายตลอดเส้นทาง เพราะภายในพื้นที่ปลูกมะพร้าวผลแก่เป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีมะพร้าวน้ำหอม กล้วย และมังคุดที่ออกผลเล็ก ๆ อยู่บ้าง 

เดิมทีเคยปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ต้องการอากาศหนาว 15-17 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันประมาณ 15 วัน แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ลิ้นจี่จึงไม่ออกผลตามต้องการ เกษตรกรต้องตัดต้นลิ้นจี่ออกแล้วหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมแทน 

ปัจจุบันแม้ว่ามะพร้าวจะยังมีผลผลิตอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็ทำให้ผลผลิตลดลงถึง 20% โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน แต่ก็ยังพอมีรายได้ เมื่อเทียบกับลิ้นจี่ที่ถ้าไม่ได้รับอากาศเย็นพอ ผลผลิตจะไม่มีเลย จึงต้องมาสร้างมูลค่าจากใบลิ้นจีมาสกัดสีเพื่อทำผ้ามัดย้อม

“ผ้ามัดย้อมไม่ได้ทำยาก แต่ที่เป็นอุปสรรคคือการสกัดสี ที่ใช้เวลานานและเปลืองพลังงาน ซึ่งเมื่อก่อนกลุ่มวิสาหกิจจะใช้เตาอั้งโล่ ในการต้มน้ำสกัด กว่าจะร้อนก็เสียฟืนที่ซื้อมาจำนวนมาก แต่เมื่อมีเทคโนโลยี เตามณฑลเข้ามาก็ทำให้ประหยัดทั้งเวลา เงิน และพลังงาน โดยเตานี้ให้ความร้อนเร็ว เมื่อเผาไหม้แล้วก็ไม่เกิดควัน เพราะเป็นเตาแบบสองชั้น แต่จะมีควันเล็กน้อยก็ตอนจุดประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งก็เปลี่ยนจากการใช้ฝืน มาใช้ใบกล้วยใบลิ้นจี่เป็นฉนวนแทน”  

 

 

 

 

-ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า จากชุมชนสู่สินค้ายั่งยืน

นอกจากผ้ามัดย้อมจากใบลิ้นจี่ ในชุมชนยังมีสินค้าหลัก คือ ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น อาทิ โลชั่นบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม และลิปบาล์ม ซึ่งเป็นการผลิตในระดับชุมชนที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพจากกระทรวงสาธารณสุขทุกปี นอกจากนี้ ยังนำวัตถุดิบรอบๆ บ้าน อย่างลิ้นจี่ที่ไม่ออกผลมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อลดการสูญเปล่า

ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจะมีของเหลือ เช่น น้ำ กาก และเปลือกมะพร้าว เรานำสิ่งเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ โดย นำน้ำไปทำ EM หรือ Effective Microorganisms เพื่อล้างห้องน้ำ นำกากมะพร้าวไปทำสครับขัดผิว  และนำเปลือกมะพร้าว ไปสกัดสี เพื่อทำผ้ามัดย้อมเช่นเดียวกับใบลิ้นจี่ เพื่อให้ได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนเศษใบลิ้นจี่ที่เหลือจากการต้มและย้อมสีมักย่อยสลายได้ยาก ถ้าทิ้งลงน้ำจะทำให้น้ำเสีย และถ้าเผาก็จะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 กลุ่มฯ จึงคิดวิธีจัดการแบบ Zero Waste โดยนำเศษใบลิ้นจี่มาทำเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง (RDF) เพื่อนำไปเผาในเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เตามณฑล) ซึ่งเป็นเตาที่ใช้ในกระบวนการย้อมผ้า ช่วยลดของเสียและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ครบวงจร ปัจจุบันยังมีการบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการนี้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

-เทคโนโลยี เพิ่มคุณภาพและกำลังการผลิต

ทั้งนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพลังงานจังหวัด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรผ่านการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวลมาใช้ 

พวกเขาเปลี่ยนวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีค่าใช้จ่ายสูงและอาจไม่คงเส้นคงวา เช่น การผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่เคยต้องใช้เวลาตากแดดถึง 2-3 วัน หรือการใช้เตาฟืนในการต้มน้ำย้อมสีผ้า ซึ่งสิ้นเปลืองและควบคุมคุณภาพได้ยาก ปัจจุบัน กลุ่มฯได้รับระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ 18 ระบบ รวมถึงเตาชีวมวลแบบ 2 กระทะ และชุดครอบหัวเตาแก๊ส ที่ช่วยให้กระบวนการผลิตรวดเร็วและประหยัดต้นทุนลงอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีรถเข็นสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เข้ามาช่วยในงานการเกษตรได้ดีขึ้นอีกด้วย

 

 

– เทคโนโลยีดีเหล่านี้ สามารถขอการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานได้ทุกจังหวัด

สุนทร อุษาบริสุทธิ์ พลังงานจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มวิสาหกิจฯแห่งนี้ ประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในการผลิตอย่าง ฟืน และก๊าซ LPG และยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทั้งระบบอบแห้ง เตามณฑล ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐาน ช่วยประหยัด ค่าเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตได้ 50% โดยประหยัดค่าก๊าซ LPG และฟืน คิดเป็นเงินได้ประมาณ 10,000 บาทต่อปี ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมีที่รายได้ 2-4 แสนบาทต่อปี เพิ่มเป็น 5 แสนบาทต่อปี

โดยพลังงานจังหวัดมีโครงการช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับเกษตรกรหรือคนที่สนใจนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำการเกษตร โดยจะช่วยออกเงินให้ในสัดส่วน 70% ส่วนคนขอใช้เทคโนโลยีต้องร่วมออกเองอีก 30% เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในภาคเกษตรอย่างคุ้มค่า  สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พลังงานจังหวัดในพื้นที่

 

 

 

 

-ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์กระดาษสา 

จากขยะก้านกุหลาบ วัดจุฬามณี

ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตแต่ยังเพิ่มคุณภาพและกำลังการผลิต รวมถึงความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงกระดาษสาจากก้านดอกกุหลาบ 

“เมื่อวัดจุฬามณีเผชิญปัญหาขยะดอกไม้ที่ประชาชนใช้ไหว้พระ โดยเฉพาะดอกกุหลาบที่มักเหลือเพียงก้านไร้ค่า เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่า วัดจึงริเริ่มโครงการนำก้านกุหลาบเหล่านี้มาผลิตกระดาษสา กระบวนการเปรียบเสมือนการใช้ต้นกล้วยทำกระดาษสา แต่ความแตกต่างคือ ใยกุหลาบจะมีความบางและเหนียวน้อยกว่าต้นกล้วย ซึ่งกระบวนการนี้ได้พัฒนาความรู้จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สทช.) มาช่วยถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูปและเพิ่มคุณภาพ” 

โดยกระดาษสาที่ได้จะถูกพิมพ์ลวดลายด้วยสีธรรมชาติ สะท้อนถึงความสวยงามและสิริมงคลในทุกแผ่น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปัจจุบันส่งให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดขยะในวัด แต่กลายเป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเพิ่มคุณค่าทางศิลปะในท้องถิ่นอีกด้วย

 

 

 

 

ส่งต่อองค์ความรู้

กลุ่มวิสาหกิจเกษตรสวนนอก ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเห็นการเชื่อมโยงระหว่างพลังงานสีเขียว กับชีวิตประจำวัน นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมจะได้เรียนรู้จากฐานการสอนทั้ง 4 คือ การทำผ้ามัดย้อม สครับผิว ลิปบาล์ม และขนมไทย เพื่อสามารถนำองค์ความรู้กลับไปต่อยอด มองดูว่ารอบ ๆ บ้านมีวัตถุดิบอะไรที่สามารถนำมาต่อยอด สร้างมูลค่าได้บ้าง

 

ที่มาภาพ : คุณบุปผามีผ้ามัดย้อม