กรุงศรี ประกาศแผนความยั่งยืน นำ Climate Risk ประเมินความเสี่ยงธุรกิจไทย

กรุงศรี ประกาศแผนความยั่งยืน นำ Climate Risk ประเมินความเสี่ยงธุรกิจไทย

กรุงศรี และบริษัทในเครือ ประกาศแผน “GO Sustainable with krungsri” ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็น “ธนาคารแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ให้ความสำคัญทั้งเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นผู้นำทางธุรกิจพร้อมนำ​ Climate Risk ใส่แผนประเมินความเสี่ยงธุรกิจภาคธนาคารไทย

 

 

โลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลง ทำให้ธุรกิจไทยต้องสำรวจความสามารถในการแข่งขันของตนเอง และเร่งปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาจะเห็นองค์กรชั้นได้ประกาศแผนการลงทุนปรับตัวสู่การเป็นองค์กรสีเขียว 

ขณะที่สถาบันการเงินต่างแข่งกันออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว มาช่วยบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง ให้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลาดจนหาโซลูชั่นทางการเงินช่วยธุรกิจ SMEs ที่เปรียบเสมือนปลาเล็ก ให้สามารถปรับตัวเท่าทัน 

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ SME รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ประกาศขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน” ประกาศลุยแผน “GO Sustainable with krungsri” ด้วยการให้ความสำคัญกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ทั้งในระดับองค์กร และสนับสนุนประเทศเปลี่ยนผ่านขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero และการปล่อยสินเชื่อการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน 

 

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง สังคมที่เปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังไม่ทำอะไรเลยผลกระทบที่ตามมาก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากมองไปอีก 10-20 ปีข้างหน้า ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้นกรุงศรีจึงได้วางแผนธุรกิจใหม่เริ่มตั้งแต่ปี 2024-2026 ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainable) เป็นอันดับแรก เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน

โดยตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ 

 

ด้านแรก คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจหลัก (Sustainable Core Business) ซึ่งมุ่งนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งให้ความสำคัญด้านความร่วมมือกับพันธมิตรและการสร้างอีโคซิสเต็มให้กับธุรกิจทั้งในประเทศและอาเซียน 

 

ด้านที่สอง คือ การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Society) โดยให้การสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องสอดแทรกแผนประเมินความเสี่ยง (Climate Risk) สำหรับการวางแผนธุรกิจและประเมินความเสี่ยง​​ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของภาคการเงินไทยที่นำประเด็นความเสี่ยงนี้มาทำทดสอบความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพื่อประกอบการวางแผนธุรกิจ 

 

“ตอนแรกผมสงสัยว่า ทำไมเมืองไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) อันดับ 9 ของโลก ข้อมูลระบุว่าเพราะเมืองไทยติดทะเลมากที่สุด ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง จะมีผลกระทบกับไทยมาก ส่วนธนาคารก็ต้องดูผลกระทบจากหลาย ๆ อุตสาหกรรม อะไรที่จะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงของลูกค้าเราบ้าง แล้วที่มีความเสี่ยงกับลูกค้า เราจะไปช่วยเขาเปลี่ยนผ่าน (Transition) อย่างไร ตอนนี้ทีม Risk Management ทำงานเชิงลึกมาก เริ่มต้นตั้งแต่หนึ่ง เพราะถ้าเมื่อก่อนถ้าพูดเรื่องความเสี่ยง ส่วนใหญ่จะนึกถึงการส่งออก กลายเป็น Market Risk แต่มาวันนี้ถ้าน้ำแล้ง หรือฝนตกหนักน้ำท่วม จะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจแน่นอน และยิ่งไปกว่านั้นทำให้ต้นทุนต่างๆ แพงขึ้น”

โดยทั้งหมดนี้ กรุงศรีจะดำเนินการภายใต้แนวคิด GO Sustainable with krungsri เพื่อเดินหน้าสู่เส้นทางของความยั่งยืนร่วมกัน

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีหลากหลายโครงการที่กรุงศรีได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่องและยังคงเดินหน้าต่อไป รวมถึงพัฒนาโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น 

 

มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2573 

ในปี 2564 กรุงศรีได้กำหนดวิสัยทัศน์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Krungsri Net Zero Vision) ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 และจากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งกรุงศรีให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง โดย

เรื่องแรก คือ การให้ความสำคัญกับการดำเนินการภายในกรุงศรี (Own Operations) มุ่งดูแลลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ ปลูกฝัง Krungsri Sustainability DNA ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรเพื่อให้ทุกคนในองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารและพนักงานได้มีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนและเรียนรู้เรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพการลดขยะอาหารที่ต้องฝังกลบให้เป็นศูนย์เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 และเดินหน้าสู่การเป็น Net-Zero Organization 

ในส่วนนี้กรุงศรีได้ริเริ่มและดำเนินการในหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่สำนักงานใหญ่ อาคารสำนักงานอื่นๆ ของกรุงศรี และสาขาของธนาคาร อาทิ การเปลี่ยนระบบเครื่องทำความเย็น (Chiller Plant)การติดตั้งแผงโซลาเซลล์ การเปลี่ยนรถยนต์ ส่วนกลางและจักรยานยนต์ที่ใช้ในการรับส่งเอกสารเป็นยานยนต์ไฟฟ้า การกำจัดขยะ

 

 

ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจเพื่อสังคม ใกล้ถึง 1 แสนล้านบาทแล้ว

เรื่องที่สอง คือ การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) กรุงศรีมุ่งสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยกรุงศรีได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ MUFG สถาบันการเงินระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยออกสู่ตลาด 

ปัจจุบันกรุงศรีอยู่ในตลาดทุน และตลาดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย เป็นผู้ออกตราสารเพื่อความยั่งยืน (ESG Bond Underwriting) โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 20% และเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ออกผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนใหม่ๆ สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินเชื่อเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน และเงินฝากเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ กรุงศรีมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี 2593 โดยธนาคารได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน (Social and Sustainable Finance) จำนวน 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 (จากปีฐาน 2564) และข้อมูล ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรุงศรีได้ให้เงินสนับสนุนแก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 76,000 ล้านบาท (จากปีฐาน 2564) ซึ่งใกล้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ทำให้กรุงศรีกำลังพิจารณาปรับเพิ่มเป้าหมายให้เหมาะสมกับศักยภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

 

แผนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero 

ไพโรจน์ กล่าวว่า การที่จะเป็นผู้นำในการเป็นธนาคารที่ยั่งยืนได้นั้น ไม่เพียงต้องปรับตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และการสนับสนุนลูกค้าด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเป็นธนาคารที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง คือ การสร้างรากฐานด้านความยั่งยืนให้แข็งแกร่ง โดยปัจจุบันกรุงศรีอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีมาตรฐานสากล TCFD (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) ผ่านคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IECC) ของธนาคาร และจัดทำแผน Transition Plan เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero รวมทั้งเรายังเป็นหนึ่งในธนาคารหลักที่ทำงานภายใต้สมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยภาคธนาคารไทยเร่งพัฒนาแผน Transition Plan สำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย

“เราพยายามทรานส์ฟอร์มพอร์ตของเราเป็น Net zero ซึ่งเป็นเรี่องที่ยากและท้าทาย แต่สิ่งสำคัญ ที่กำลังทำอยู่ ต้องมาดูว่าพอร์ตสินเชื่อเราของใครมีอุตสาหกรรมอะไร และอุตสาหกรรมเหล่านี้ ตัวก๊าซคาร์บอนที่ออกมาจะกระทบอะไรอย่างไร ซึ่งเรากำลังทำงานอยู่ สิ้นปีหน้า คาดจะสิ้นเสร็จการทำแพลนของ 2 อุตสาหกรรม พลังงานและขนส่ง เพราะต้องคุยกับลูกค้า ดูว่าจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร ก็ต้องค่อย ๆ ทำไป ไม่ใช่ทำได้ภายในปีสองปี เพราะเราต้องเข้าใจลูกค้าด้วย เข้าใจธุรกิจของเขาด้วย” 

ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ปี 2568 ไทยจะออกกฎหมาย climate change กำหนดเลยว่าอุตสาหกรรมไหนปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มาก จะถูกกำหนดภาษีสูงขึ้น ฉะนั้นทุกคนพยายามอยากให้ธุรกิจช่วยกันทรานส์ฟอร์ม ไปในทิศทางที่ช่วยโลกให้เกิดความยั่งยืน ต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องมาดูว่าจากจุดเริ่มต้น ธนาคารช่วยอะไรได้บ้าง 

“เงินทุนอาจไม่ได้ชาร์จเขาแพงมาก เราอาจจะไปหา เงินฝากที่ยั่งยืน (Sustainable Deposit) ก็ยังมีลูกค้าเรายอมเงินฝากในเรตที่ต่ำ เพราะเขาก็ถือว่าเขาเคลมได้ด้วยว่าช่วยความยั่งยืนอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็สามารถนำเอาเงินทุนตรงนี้มาทรานเฟอร์กลับไปช่วยคอร์สในการทรานสิชั่นลูกค้า แต่เราไม่สามารถทำให้ต้นทุนมีราคา มั่นคงได้ แต่ทุกคน ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ นี่คือความท้าทายจริง ๆ เราต้องดูธุรกิจ เพราะตอนนี้ SME ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จะให้มาเปลี่ยนตอนนี้ต้นทุนก็สูง เครื่องจักรใหม่ไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร แต่บางอย่างถ้าเราช่วยดูได้ ก็ดู เช่น การเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ค่าไฟต่ำลง ฯลฯ นับว่าท้าทายมาก”

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวคิด GO Sustainable with krungsri กรุงศรีมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น Market Shaper ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภาคการเงินและขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการ กรุงศรีพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้า พันธมิตร และทุกภาคส่วนของสังคมในการเดินหน้าสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้า สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นต่อไป

 

เรื่องโดย : บุษกร สัตนาโค