COP 29 ปฏิรูป 8 แนวทางเจรจา จำกัดอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาฯ ก่อนสาย

COP 29 ปฏิรูป 8 แนวทางเจรจา จำกัดอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาฯ ก่อนสาย

พิบัติภัยทางธรรมชาติที่หนักหน่วงรุนแรง เป็นผลจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น เป็นเหมือนสินามิที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนบนโลก จากภัยธรรมชาติหนักหน่วงระลอกแล้วระลอกเล่า ในเวทีประชุมวาระโลกด้านสภาพภูมิอากาศ COP 29 ในปีนี้ จึงเป็นปีแห่งการเร่งเคลื่อนรูปธรรมลดโลกร้อนจากประเทศภาคี โดยกำหนดการเจรจา 8 แนวทางปฏิรูป หลัง 9 ปีที่ผ่านมานับจากการข้อตกลงปารีสในปี 2558 แม้ COP จะประชุมต่อเนื่องทุกปี เต็มไปด้วยวาทกรรม แต่กลับคืบหน้าน้อย ไม่เท่าทันอุณหภูมิโลกที่พุ่งขึ้น

 

 

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : COP) เป็นการประชุมเป็นประจำทุกปี เพื่อกำหนดทิศทางดำเนินงานของประชาคมโลกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ทั้งในประเด็นภายใต้พิธีสารเกียวโต ประเด็นด้านเทคนิค ด้านการดำเนินงาน และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงปารีส  โดยมีผู้แทนจากรัฐภาคีทั่วโลก ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม 

การประชุมดังกล่าว จึงนับเป็นการประชุมระดับโลก เพื่อถกวาระโลกด้านสภาพภูมิอากาศ  ร่วมกันลดโลกร้อน เป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติและเศรษฐกิจโลก จากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ผ่านมา ทั้งพายุรุนแรง น้ำท่วมรุนแรง แล้งรุนแรง ฯลฯ  

 

 

 

 

COP 29 เร่งผลักดันเป้าหมาย ข้อตกลงปารีส 2015 

จำกัดอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาฯ 

โดยในปี 2567 เป็นการจัดประชุมสมัยที่ 29 (COP29) ที่เริ่มขึ้นแล้ว ระหว่างวันที่ 9 – 22 พ.ย. ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยในปีนี้มีเป้าหมายสำคัญ ในการผลักดันข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2558  (คศ.2015) โดยเฉพาะการรักษาอุณหภูมิของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

ดยการดำเนินการครอบคลุมใประเด็นต่างๆ ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจก, การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความโปร่งใสของการดำเนินการ และการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงทางการเงิน โดยรัฐภาคีต้องมีข้อเสนอการดำเนินการเรียกว่า national determined contribution (NDC) ของประเทศทุกๆ 5 ปี  

 

 

 

 

วิจารณ์หนักดำเนินการล่าช้า

เทียบอุณหภูมิโลกหายใจรดต้นคอ

ทั้งนี้แม้ว่าความตกลงปารีส จะถือเป็นก้าวสำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่มีการลงนามความตกลงอย่างเป็นการจาก 180 ประเทศรวมถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 

ทว่า จนถึงขณะนี้ (ปี 2567) เป้าหมายดังกล่าว ยังเป็น ‘ความท้าทาย’ ที่จะบรรลุ เมื่อเทียบกับสภาพปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ขณะที่อุณหภูมิโลกที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น  

สะท้อนจากจากรายงาน Emssion Gap 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่ระบุว่า โลกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2566  ทำสถิติปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นสูงสุด 57.1 กิกะตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 1.3 % เมื่อเทียบจากปี 2565 โดยหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเช่นนี้ต่อไป จะไม่อาจหยุดยั้งอุณหภูมิโลกที่จะสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส 

 

COP 29 เผชิญแรงกดดัน 

เร่ง ‘รูปธรรม’ ข้อตกลงปารีส 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงตามมาด้วยเสียงวิจารณ์การดำเนินการที่ ‘ล่าช้า’ ของการประชุม COP ในแต่ละปี แม้ว่าจะเป็นศูนย์รวมของเหล่าผู้นำนานาประเทศมาระดมสมองช่วยโลก แต่ในทางปฏิบัติยังดำเนินการห่างจากเป้าหมาย กลายเป็นความกดดันในการประชุม COP รอบล่าสุด ที่ต้องขับเคลื่อนข้อตกลงปารีส ให้เป็น ‘รูปธรรม’ ให้เร็วที่สุด 

ดังนั้น วาระสำคัญของการประชุม จึงอยู่ที่การร่วมกัน ‘ปฏิรูปและปรับแนวทางการขับเคลื่อน’ ตามพันธสัญญาให้เป็นรูปธรรม โดยมี 6 วาระสำคัญ ประกอบด้วย    

 

 

 

 

เปิด 6 วาระร้อน COP29

  1. การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนาคาดหวังกับการสนับสนุนทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) และเงินกู้แบบผ่อนปรน (Highly concessional loan) ที่มีความชัดเจน 

 

  1. การจัดทำ NDC 3.0 (Nationally Determined Contributions) หรือเป้าหมายการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ.2578) ที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส และผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก ครั้งที่ 1 The First Global Stocktake

 

  1. การเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and damage fund) ที่มีความชัดเจนในด้านข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และแนวทางการขอรับการสนับสนุน ให้กับประเทศที่มีความเปราะบาง ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ

 

  1. ความชัดเจนของตัวชี้วัด (Indicators) ตามเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก และตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ ตามบริบทของประเทศภาคี 

 

  1. ความร่วมมือภายใต้กลไก

 

      6. ข้อความตกลงปารีส ที่จะต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติมเกินจำเป็น

 

 

 

เปิด ‘8 แนวทางปฏิรูป’ 

เจรจาประเทศภาคีลดโลกร้อน

นอกเหนือจาก 6 วาระการประชุมดังกล่าว ในการประชุม COP 29 ยังจะเจรจาเพื่อกำหนด ‘8 แนวทางการปฏิรูป’ การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศภาคี ที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อลดโลกร้อน ประกอบด้วย 

  • การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • การปรับโครงสร้างงระบบอาหาร
  • การจำกัดปริมาณคาร์บอน และหาวิธีดูดซับในธรรมชาติที่สมบูรณ์
  • การสร้างแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า การฟื้นฟูธรรมชาติ
  • การหาทางออกโดยพึ่งพิงธรรมชาติด้านอื่นๆ 
  • การพัฒนาเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CCS/BECCS/CDR/DAC)
  • การปรับตัว/ความยืดหยุ่น การเงิน/ความเสมอภาค และการชดเชยความสูญเสียและความเสียหาย
  • การอัปเกรดข้อมูล สนับสนุนที่กำหนดในระดับประเทศควรได้รับการชื่นชม 

 

 

5 ประเด็นไทยประชุม COP 29 

สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยเตรียมไปเสนอในการประชุม COP29 จะได้มุ่งเน้นการเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย

 

  1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุ NDC 2030 โดยคาดว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30 – 40% คิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

  1. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัว เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ

 

  1. การเร่งผลักดัน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

  1. ตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024) 

 

  1. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งไทยกำหนดจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา

 

ทั้งนี้จากวาระการประชุม และการปฎิรูปแนวทางการเจรจา ในการประชุม COP 29 สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ ความวิตกกังวลต่อภาวะวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโลก ภายใต้ระยะเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที จนที่สุดแล้วอาจไม่เท่าทันปัญหา หากยังขาดรูปธรรมและความร่วมมือในการดำเนินงานที่หนักแน่นจริงจัง  

การเสียเวลากับการเจรจาที่ไม่สิ้นสุดนับจากปี 2558 ของข้อตกลงปารีส 9 ปีผ่านไป ยังคงขาดรูปธรรมที่ชัดเจน จึงเป็นความเสี่ยง ต่อ ‘การถอยหลัง’ มากกว่า ‘การบรรลุเป้าหมาย’ ก่อนหายนะทางธรรมชาติจากโลกร้อน จะมาเยือนระลอกแล้วระลอกเล่าจนมวลมนุษยชาติรับไม่ไหว