ตั้งแต่การอนุรักษ์น้ำไปจนถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซิน ซิตี้ (Sin City) ในลาสเวกัสแห่งนี้ กำลังลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในมาตรการด้านความยั่งยืน
‘ลาสเวกัส’ ขึ้นชื่อเรื่องแสงไฟที่สว่างไสว ความฟุ่มเฟือย และความสุขสำราญ ทว่าเมืองแห่งนี้ กำลังหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การอนุรักษ์น้ำ การจัดการขยะ ไปจนถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยได้ลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในการผลักดันโครงการเพื่อความยั่งยืน
มาร์โก เวล็อตตา เจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของเมือง กล่าวถึงความพยายามดังกล่าวว่า เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 2548 และเร่งดำเนินการด้วยพระราชบัญญัติการฟื้นฟูในปี 2552 โดยกำหนดเป้าหมายสำหรับพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์น้ำ การรีไซเคิล และอาคารสีเขียว
“ภายใต้กฎหมายการฟื้นฟูและแนวทางของสภาเมือง เมืองจะสามารถลงทุนเบื้องต้นในโครงการด้านความยั่งยืนได้ 75 ล้านดอลลาร์ (2,475 ล้านบาท)” เวล็อตตา กล่าว
เขายังคาดว่าภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ไฟฟ้า 50% ของเนวาดาทั้งหมดจะผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนลาสเวกัสได้เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน โดยรีสอร์ทต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของรัฐในการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วน 40% และส่วนใหญ่จะทำได้เกิน 40%
“ในตอนแรก นักท่องเที่ยวก็รู้สึกประหลาดใจกับความพยายามในการพัฒนาความยั่งยืนของเมืองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลาสเวกัสได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านนี้ ความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวโดยรวมของเมือง”
สเตฟเฟน เลห์มันน์ ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองที่มหาวิทยาลัยลาสเวกัส รัฐเนวาดา กล่าวว่า ถนนสายนี้ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเกินขนาดอาจดูน่าตกใจ โดยภาคการค้าของลาสเวกัสคิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในเนวาดา แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ถนนสายนี้กำลังก้าวหน้าด้วยความพยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงแรมรีสอร์ทผ่านการบูรณาการพลังงานแสงอาทิตย์และเพิ่มแสงธรรมชาติ
นครแห่งโซลาร์
โดย ลาสเวกัสอยู่อันดับสองในสหรัฐอเมริกาในด้านความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ต่อหัว ในขณะที่โฮโนลูลูอยู่อันดับหนึ่ง
“ซินซิตี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งแสงอาทิตย์” เลห์มันน์ กล่าว และรีสอร์ทต่างๆ ก็ได้ใช้ประโยชน์จาก แสงแดด 320 วันที่มีในเมืองนี้ทุกปี
บริษัท เอ็มจีเอ็ม รีสอร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล (MGM Resorts International) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการบริการ ได้พัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 100 เมกะวัตต์จ่ายไฟให้กับโรงแรม 11 แห่งในลาสเวกัส ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ไฟให้กับบ้าน 27,000 หลัง อย่างไรก็ตามเมื่อบวกกับพลังงานเพิ่มเติมที่ซื้อจากซัพพลายเออร์พลังงานแสงอาทิตย์ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับโรงแรมทั้ง 11 แห่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้บริษัทมีเป้าหมายที่จะจัดหาพลังงานทั้งหมดเองจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ภายในปี 2030
ใช้น้ำอย่างประหยัด – รีไซเคิลน้ำ
เดินสู่เป้าหมายความยั่งยืน
นอกจากการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว ลาสเวกัส ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลทรายโมฮาวีที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งทำให้เรื่องการอนุรักษ์น้ำเป็น “สิ่งสำคัญที่สุด” ของเครือโรงแรมในการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ‘ไมเคิล กูลลิช’ รองประธานฝ่ายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท เอ็มจีเอ็ม รีสอร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
เขา ยังกล่าวว่า โรงแรม MGM บนถนนสายนี้อนุรักษ์น้ำได้ 16,000 ล้านแกลลอนตั้งแต่ปี 2550 โดยต้องขอบคุณนโยบายการใช้น้ำ “ที่เข้มงวด” รวมถึงการเปลี่ยนหญ้าเป็นภูมิทัศน์ที่เป็นมิตรต่อทะเลทราย ติดตั้งก๊อกน้ำประหยัดน้ำในทุกโรงแรม และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำและน้ำพุเบลลาจิโอ
ด้าน เลห์มันน์ เตือนว่า การใช้น้ำโดยรวมต่อหัวในเวกัสยังคงสูงเกินไป “มีการสูญเสียน้ำมากเกินไปก่อนที่รีสอร์ทจะเริ่มใช้น้ำอย่างประหยัดในปี 2550”
เลห์มันน์ กล่าวว่า หลังจากรีสอร์ทใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้ในขณะนี้น้ำที่ใช้ในลาสเวกัสมากกว่า 97% ได้รับการรีไซเคิล ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากเมื่อประเมินจากสถานการณ์ของแม่น้ำโคโลราโด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดของเมืองนี้ กำลังลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว
ด้าน เวล็อตตา กล่าวว่า เรารู้สึกยินดีที่ครั้งหนึ่งลาสเวกัสเคยถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งขยะและสิ่งฟุ่มเฟือย แต่ด้วยความพยายามในการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม
ที่มา: https://www.bbc.com/future/article/20241101-how-las-vegas-is-becoming-a-sustainable-city