‘กลุ่มเพชรศรีวิชัย’ จับมือ ‘เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี’ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รับแลกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เปลี่ยนเป็นน้ำมันพืชขวดใหม่ ต่อยอดผลิตไบโอดีเซล
การนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว กลับมาแปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์อีกครั้ง นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการนำทรัพยากรมาใช้หมุนเวียนไม่สิ้นสุด อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดี เนื่องจากแทบทุกครัวเรือนต้องใช้น้ำมันปรุงอาหาร โดยที่ผ่านมาเมื่อใช้น้ำมันปรุงอาหารแล้ว ยังขาดทางเลือกในการจัดการ ทำให้ต้องทิ้งลงถังขยะ หรือ ท่อระบายน้ำ แม้จะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อโลกมากนัก แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อยังไม่ให้ทางเลือกในการจัดการที่ดีพอ
จนเกิดทางเลือกเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปจำหน่ายต่อกลายเป็นการสร้างรายได้ ไปพร้อมกับช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลโลก ไม่น่าเชื่อว่า น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วที่ดูไร้ค่า จะสามารถนำกลับมาทำเป็นน้ำมันเครื่องบิน (น้ำมันอากาศยาน) หรือนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ขณะที่หลายบริษัทที่เกี่ยวข้องก็เริ่มตระหนักถึงการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กร
‘ทิ้งไปเสียดายแย่’ นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว
แลกน้ำมันพืชขวดใหม่ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล
ล่าสุด บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด’ หรือ NBD ในเครือ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เดินหน้าลดผลกระทบด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อมจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ร่วมมือกับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ทำโครงการ ‘ทิ้งไปเสียดายแย่’ ให้ประชาชนนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีแลกเป็นน้ำมันพืชขวดใหม่ตรา ‘รินทิพย์’ เพื่อนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล
พรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ น้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค และผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้อื่นๆ รวมถึงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ในการดำเนินโครงการ ‘ทิ้งไปเสียดายแย่’ นำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแลกเป็นน้ำมันพืชตรารินทิพย์ เพื่อนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ช่วยลดผลกระทบต่อการอุดตันของท่อระบายน้ำจากการทิ้งน้ำมันปรุงอาหารของประชาชนที่เป็นปัญหาซึ่งยากต่อการจัดการในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน
จัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเงื่อนไขรับแลกน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว 2 กิโลกรัม เปลี่ยนเป็นน้ำมันพืชตรารินทิพย์ได้ 1 ขวด ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ต.ค.2568 ทุกวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ ณ สำนักงานเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
“เรามีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) ด้วยการใช้วัตถุดิบที่หมุนเวียนได้และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากชุมชนและผู้ประกอบการ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรม จะถูกนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงไบโอดีเซล ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ยังช่วยขจัดปัญหาการจัดการของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนอีกด้วย” พรพิพัฒน์ กล่าว