‘เบทาโกร’ รวมพลังคนในองค์กร เคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ความยั่งยืนด้านอาหาร

‘เบทาโกร’ รวมพลังคนในองค์กร เคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ ความยั่งยืนด้านอาหาร

เบทาโกร สานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน ในงาน ‘BETAGRO SD DAY 2024’ ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร , การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ,การพัฒนาชุมชน ,การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เปิดตัวสัญลักษณ์ ‘Betagro Saijai’ สะท้อนความยั่งยืนด้านอาหาร ผ่านการทำงานทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

 

วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในขณะนี้ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ และเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วโลก 

ประเด็นเหล่านี้ ล้วนกระทบต่อ ‘ระบบการผลิตอาหาร’ ทั่วโลก จึงต้องเร่งสร้าง ‘ความยั่งยืนทางด้านอาหาร’ ในอนาคต ท้าชนทุกวิกฤต ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้รุกปรับตัว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรในระยะยาว 

หนึ่งในนั้น คือ ‘เบทาโกร’ ผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร เพื่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ล่าสุดได้จัดงาน ‘BETAGRO SD DAY 2024’ ภายใต้แนวคิด ‘Sustainable Food Through Better Actions’ ​ รวมพลังคนในองค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลง สานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน

 

 


ชูผลิตอาหารคุณภาพ ปลอดภัย มาจากฐานผลิตยั่งยืน
 

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG กล่าวในงานดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 57 ปีของการดำเนินธุรกิจ เบทาโกรให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด สะท้อนผ่านจุดประสงค์ขององค์กรที่มุ่งมั่นเพิ่มคุณค่าชีวิตทุกคน ด้วยอาหารที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน และมีแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน ผ่านการทำงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยสูงสุด และเพียงพอต่อความต้องการบริโภค ที่สำคัญมาจากการผลิตที่ยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และจากความร่วมมือของทุกคนในองค์กรเพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืน ส่งผลให้เบทาโกรได้รับการยอมรับผ่านรางวัล และการประเมินต่าง ๆ มากมาย

 

 

เคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน

ขณะที่  ไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิต และซัพพลายเชน เบทาโกร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเบทาโกรได้ดำเนินงานตามแนวทางด้านความยั่งยืนขององค์กร ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ อย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุตามเป้าหมาย ประกอบด้วย 

 

  1. คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Quality and Safety) โดยให้ความสำคัญและใส่ใจทุกกระบวนการผลิตเพื่อส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย ภายใต้การวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมสร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จนเกิดเป็นเครือข่ายคุณภาพความปลอดภัยด้านอาหารที่ยั่งยืน 

 

 

ลดใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพสัตว์ลงได้ 15%

โดยล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม เบทาโกรสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลงได้ 15% จากเป้าหมายลดลง 50% (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2564) ภายในปี 2570 นอกจากนี้ยังติดตามและประเมินเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) 9062 – 2565 โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการ 65% จากเป้าหมาย 100% ภายในปี 2570

 

 

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงได้ 8.4% 

2.การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Management) โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และทั่วโลก จึงมุ่งนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ลดการใช้พลังงาน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า 

โดยปัจจุบันสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลงได้ 8.4% จากเป้าหมายลดลงมากกว่า 20% (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2565) ภายในปี 2573 และมุ่งมั่นสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

 

 

บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 97.5%

3.การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยมุ่งมั่นในการปรับปรุงและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Packaging) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงลดการใช้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเบทาโกรมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากกว่า 97.5% จากเป้าหมาย 100% ในปี 2573 และสามารถลดการใช้ทรัพยากรบรรจุภัณฑ์ลงได้กว่า 1,160 ตัน

 

 

 

อัตราการเกิดอุบัติเหตุฯ ของพนักงาน ลดลงได้ 67%

4.อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Occupational Health and Safety) เนื่องจากพนักงานนับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า จึงต้องดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ภายใต้สถานที่ทำงานและกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย พร้อมมุ่งสู่อุบัติการณ์เป็นศูนย์ (Zero Incident) ด้วยการดำเนินการตามระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเบทาโกร ที่ประยุกต์แนวทางจากการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM) ซึ่งจากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน อัตราการเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานของพนักงาน ลดลงได้ 67% และมุ่งมั่นสู่ Zero Incident ในปี 2569 ต่อไป

 

 

เดินหน้าโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม

ให้กับชุมชนไปแล้ว 14,468 ครัวเรือน 

5.การพัฒนาชุมชน (Community Development) จากความเชื่อที่ว่าการที่ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนและสังคมต้องเติบโตไปพร้อมกัน บริษัทจึงมุ่งพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องแบบองค์รวม ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา เพื่อสนับสนุนชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันสามารถส่งเสริมความเป็นอยู่และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับชุมชนรอบสถานประกอบการ ด้วยโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวมให้กับชุมชน 14,468 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 15,000 ครัวเรือนภายใน ปี 2567 และจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการและกิจกรรมเป็น 20,000 ครัวเรือน ในปี 2568 

 

 

เปิดตัวสัญลักษณ์ ‘BETAGRO Saijai’

สะท้อนความยั่งยืนอาหาร

ทั้งนี้ในงานดังกล่าวยัง เปิดตัว ‘เบทาโกร ใส่ใจ’ หรือ “BETAGRO Saijai” สัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตนเบทาโกรที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน และไม่ใช่แค่การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค เป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยสูงสุด สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกกลุ่มแล้ว ยังเป็นการผลิตอาหารที่ลดผลกระทบต่อโลก และสร้างความสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน